คณะกรรมการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 หรือคณะกรรมการเยียวยาปลัด 10 กระทรวงได้ประชุมสรุปตัวเลขผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็น เงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในโครงการ เราไม่ทิ้งกัน และแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนใน กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านรายและกลุ่ม ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทอีก 2.4 ล้านราย
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้สรุปตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 กลุ่มที่ยังตกหล่นอยู่ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือด้วยในกรอบ 9 ล้านราย หลังจากคัดกรองความซ้ำซ้อนการได้รับความช่วยเหลือแล้ว
ประกอบด้วย กลุ่มผู้ถือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.2 ล้านราย ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะมี 2.4 ล้านราย กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ 300,000 ราย จากที่คาดว่าจะมีประมาณ 1.7 ล้านราย กลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กแรกเกิด จำนวน 6.9 ล้านราย และกลุ่มมีสวัสดิการประกันสังคมแต่ตกงานจำนวน 66,220 ราย
ทั้งนี้จะมีการเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในสัปดาห์หน้า และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาต่อไป โดยหาก ครม.อนุมัติก็จะสามารถจ่าย เงินเยียวยา ดังกล่าวได้ในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งหากเงินมีเพียงพอก็จะจ่ายทบให้ 2 เดือน และอีก 1 เดือนในเดือน ก.ค. แต่หากไม่มีเงินพอก็จ่ายครั้งเดียวเป็นเงินก้อนทั้งหมดในเดือนก.ค.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละกลุ่มนั้น จะได้รับ เงินเยียวยา เท่าไร แต่กลุ่มที่มีประกันสังคมแต่ตกงาน และ กลุ่มเปราะบาง คาดว่าจะได้รับ เงินเยียวยาเดือนละ 1,000 บาท จำนวน 3 เดือน และกลุ่มประกันสังคมจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ส่วนกลุ่มที่เหลือต้องรอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาก่อน ว่าจะได้ 5,000 บาทต่อเดือนด้วยหรือไม่ และจากนั้นถึงจะรู้ว่าต้องใช้ เงินเยียวยา รวมเท่าไร ซึ่งล็อต นี้เป็นล็อตสุดท้ายที่จะได้รับความช่วยเหลือแล้ว เพราะคิดว่าเก็บกลุ่มที่ตกหล่นหมดแล้ว
“กระทรวงการคลังเปิดรับร้องเรียนโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้ร้องเรียนทั้งหมด 860,000 คน ได้มีการตรวจสอบและคัดกรองเบื้องต้นแล้ว 100,000 คน และในจำนวนนี้ เป็น ผู้ตกหล่น จำนวน 6,472 ราย ส่วนที่เหลือได้รับสิทธิ์เยียวยาต่างๆ ไปแล้ว”