การใช้จ่ายภาครัฐความหวังเดียวเคลื่อนจีดีพีปี 2563

08 ก.ค. 2563 | 10:40 น.

กนง. ชี้การใช้จ่ายภาครัฐเป็นความหวังขับเคลื่อนจีดีพีปี 2563 -เหตุเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยง

ลุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ ความหวังเดียวเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี2563  -3ปัจจัยชี้จีดีพีไทยหดตัวมากกว่ากรณีฐาน “เศรษฐกิจโลกฟื้นช้าหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง-ธุรกิจและครัวเรือนมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงและความเสี่ยงCOVIDระบาดระลอกใหม่จนต้องปิดเมืองอีกครั้ง” หลังปรับลดประมาณการทั้งปีติดลบ 8.1%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2563  โดยระบุสาระสำคัญว่า   สำหรับประชุมวันที่ 24 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว  8.1% มากกว่าที่ประมาณการไว้ในรายงานนโยบายการเงินฉบับก่อน และหดตัวมากในเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยคาดว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ในช่วงที่เหลือ รวมทั้งปรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพื่อเร่งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และการทบทวนโครงสร้างงบประมาณประจ าปี 2564 อีกทั้งจะมีเม็ดเงินเพิ่มจากมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบCOVID-19 ระยะที่ 3 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยประคับประคองภาคธุรกิจและรักษาการจ้างงานได้บางส่วน ทั้งนี้ รายจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวซึ่งจะช่วยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำกว่าระดับศักยภาพอยู่มากประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้มีข้อสมมติเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่รุนแรงในไทย จึงสามารถทยอยเปิดประเทศตามมาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble) ซึ่งเป็นการจับคู่ประเทศที่ปลอดภัยจาก COVID-19 เพื่อให้เดินทางระหว่างกันในบริเวณที่กำหนดได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลัง ของปี 2563 และ (2) วัคซีนป้องกันโรคจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 
เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำขึ้นกับผลกระทบของ COVID-19 เป็นสำคัญ โดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่ากรณีฐานมาจาก(1) เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบมากกว่าคาด (2) ธุรกิจและครัวเรือนมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น (3) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจล่าช้า และ (4) ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ในไทยที่อาจน าไปสู่การใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง
 

อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงหรือหดตัวน้อยกว่ากรณีฐานมาจาก (1) ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ได้ผลมากกว่าคาด (2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและโครงการ PPP จูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนมากกว่าคาด และ (3) ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้นหลังจากที่ไทยสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี

อ่านฉบับเต็มได้ที่: ธนาคารแห่งประเทศไทย