ในการมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับธนาคารออมสิน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาไทยเผชิญกับปัญหาของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดนิ่ง และกระทบกับธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางกลาง และผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะพ่อค้า แม่ค้า และหาบเร่แผงลอย ให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ส่งผลให้บางส่วนต้องกู้หนี้นอกระบบมากขึ้น
“ตอนนี้จึงอยากให้ออมสินช่วยเศรษฐกิจฐานราก คนตัวเล็ก เพราะบางส่วนไม่มีที่พึ่ง ต้องไปใช้จากเงินกู้นอกระบบ ซึ่งตอนนี้ได้ข้อมูลว่ามีหนี้นอกระบบสถาบันการเงินที่ประชาชนกู้อยู่ทั้งในพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่ออื่นๆ มีสูงถึง 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24-28% ต่อปี ดังนั้นออมสินจะต้องเร่งเข้าไปช่วย 2 เรื่องหลัก ไม่ให้ชาวบ้าน คนตัวเล็ก ไม่ให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง(Credit Crunch) ทั้งเรื่องการพักหนี้ การเตรียมสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบมาก อยากให้ออมสินโฟกัสเป็นพิเศษ”นายสมคิด กล่าว
ที่มา : ธนาคารออมสิน
นอกจากนี้ยังต้องการให้ธนาคารออมสิน มีส่วนร่วมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เนื่องจากมองว่า หลังจากหมดโควิด-19 จะเริ่มมีผู้ประกอบการใหม่ ในยุค New Normal มากขึ้น ทั้ง คนตกงาน กลุ่มนักศึกษาที่จบมายังไม่มีงานแต่มีทักษะการค้า หรือคนต้องการมีอาชีพของตัวเอง โดยจะต้องเข้าไปให้ความรู้ เงินทุน ให้เข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้
ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ธนาคารออมสินจะออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) อีก 100,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจาก สินเชื่อ Soft loan วงเงิน 150,000 ล้านบาท เดิม ที่ได้ปล่อยไปแล้วกว่า 120,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท เพราะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานสูง และเกี่ยวเนื่องกับหลายกิจการ เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ สปา มัคคุเทศน์ รวมถึงร้านอาหาร เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีจะการเพิ่มวงเงินสินเชื่อช่วยเหลืออาชีพอิสระ และพนักงานประจำ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีก 20,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้รายละไม่เกิน 30,000-50,000 บาทด้วย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ ธนาคารเตรียมเสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาออกสินเชื่อเพิ่มเติม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อ Soft loan ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐ ดอกเบี้ย 0.01% เพื่อไปปล่อยกู้ต่อให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการขนาดเล็ก ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ครอบคลุมทั้ง โรงแรม โฮมสเตย์ บริษัททัวร์ ร้านนวดสปา ร้านอาหาร รถเช่า ขายของที่ระลึก แต่ไม่รวมถึงสายการบิน พร้อมกับให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันให้ และยังเปิดกว้างให้ทั้งคนกู้รายใหม่และรายเก่ากู้ได้
พร้อมทั้งสินเชื่อสำหรับช่วยกลุ่มอาชีพอิสระและพนักงานประจำ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้ปรับเงื่อนไขให้ประชาชนได้ง่ายขึ้น วงเงินสูงขึ้น เช่น ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ และคนค้ำประกัน รวมถึงขยายวงเงินจาก รายละ 10,000-50,000 บาท เพิ่มเป็น 30,000-50,000 บาท
“การช่วยเหลือผู้ประกอบการโควิดที่ผ่านมา ธนาคารได้ปล่อย Soft loan ไปแล้วกว่า 1.2 แสนล้านบาท ใกล้จะเต็ม 1.5 แสนล้านบาท แล้ว ขณะที่สินเชื่อฉุกเฉินก็สามารถปล่อยกู้ช่วยเหลือได้แล้ว 1 ล้านราย ซึ่งจะเสนอเข้าครม.ในอังคารถัดไป หลังจากผ่านการพิจารณาของบอร์ดแล้ว และหลังจากนี้ธนาคารจะมีแพ็คเกจสินเชื่ออื่นๆ ออกมาเพิ่มเติม พร้อมกับวางแผนระยะกลาง ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ชาวบ้าน โดยช่วยลดดอกเบี้ยลงจาก 24-28% เหลือ 18%”นายวิทัย กล่าว