นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562 – พ.ค. 2563) ว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 189,695 ล้านบาท หรือ 11.2% โดยเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความจำเป็นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการทางภาษีเพื่อบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการจากสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีต่างๆ ออกไปเป็นภายในเดือนก.ค.-ก.ย.2563 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นปีที่ไม่ปกติ จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงสถานการณ์ปกติได้
ทั้งนี้กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1.08 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.39 แสนล้านบาท หรือ-11.3% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำ ประกอบด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 3.62 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7.9 หมื่นล้านบาท หรือ -16.4% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 6.4 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8.5 พันล้านบาท หรือ -11.7% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า
อย่างไรก็ตามการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 11,929 และ 4,747 ล้านบาท หรือ 10.1% และ 3.3% ตามลำดับ
ส่วนการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจในปีงบ 2563 ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2563 มีจำนวน 125,458 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ของแผนการเบิกจ่ายสะสมทั้งหมด
ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง แบ่งเป็นการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ34 แห่ง จำนวน 71,325 ล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของแผนการเบิกจ่าย งบลงทุนสะสม 9 เดือน (เดือนต.ค. 2562 – มิ.ย. 2563) และการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 10 แห่ง จำนวน 54,133 ล้านบาท หรือคิดเป็น 112% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือน (เดือนม.ค. – มิ.ย. 2563) โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เกินกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างและภาคตะวันตกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม– มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง
สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีนระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการทางพิเศษสายพระราม3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่ดำเนินการล่าช้าต่อเนื่องมาโดยตลอด
“จากการเกิดโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรและการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สคร. มีการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและเร่งให้มีการเบิกจ่ายที่เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบข้างต้น เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับผู้รับจ้าง การจ่ายค่าชดเชยของโครงการลงทุนต่างๆ ให้กับประชาชน ซึ่งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย”นายประภาศ กล่าว