3เหตุผล คณะกรรมการกนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%ต่อปี ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ยังมีความไม่แน่นอนทั้งจากเศรษฐกิจโลก –การควบคุมโควิด -แนะ ผสานทั้งด้านการคลัง การเงินแก้ปัญหาการจ้างงาน , การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว -เผยดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่พระเอก! –ระบุระบบสถาบันการเงินมีศักยภาพ แต่เปราะบาง-แย้มหารือสถาบันการเงินผลักดันปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกและอำนวยสินเชื่อเพื่อลดผลกระทบระบบสถาบันการเงิน
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี โดย คณะกรรมการฯ ระบุ 3เหตุผลในการตัดสินนโยบาย ได้แก่ 1.เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด ประกอบกับการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังมีความไม่แน่นอนทั้ง เศรษฐกิจโลก ,การควบคุมโควิดและแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยว 2.ความไม่แน่นอนของโควิดส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรุนแรงต่อเนื่องนาน ซึ่งแต่ละภาคธุรกิจถูกกระทบไม่เหมือนกัน การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนถูกกระทบมากต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับไประดับเดิม ฉะนั้นหลายปัจจัยเป็นปัญหากระทบนาน แม้จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแต่ต้องรีบแก้ไขดำเนินการโดยเร็วในช่วงนี้ 3.แนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้นไม่ใช่พระเอก เพราะได้ปรับลดต่ำลงมามากทั้งเทียบกับอดีตและเทียบกับประเทศในภูมิภาค เพราะฉะนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาควรจะมุ่งเน้น เรื่องการจ้างงาน , การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว โดยจำเป็นต้องประสานนโยบายทั้งด้านการคลังและด้านการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมถึงด้านสินเชื่อ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดูแลให้ธุรกิจมีการปรับตัวและแรงงานมีการพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับบริบทของโลกหลังโควิดได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ต่อข้อถามเศรษฐกิจไทยนั้น ข้อมูลไตรมาสสองเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าคาดการณ์ครั้งที่แล้ว ซึ่งต้องรอดูข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์)ที่จะออกมา แต่ยังมีความเสี่ยงในหลายมิติ
ส่วนความผันผวนของสินค้าโภคภัณฑ์นั้น หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิดในหลายประเทศอุตสาหกรรมมีการดำเนินนโยบายการเงินโดยอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงินโลกจำนวนมาก ซึ่งราคาสินทรัพย์หลายประเภทรวมทั้งทองคำ บางครั้งอาจจะมีเงินทุนเคลื่อนย้าย ทางคณะกรรมการมกนง.มีความเป็นห่วงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนโดยให้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วและส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ครึ่งปีหลังดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากเดิมทั้งจากเรื่องราคาน้ำมันและการท่องเที่ยว ฉะนั้นแรงกดดันค่าเงินบาทน่าจะน้อยลง แต่ค่าเงินบาทแข็งค่านั้นมาจากดอลลาร์อ่อนค่าเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกนง.ให้ความสำคัญประสานนโยบายภาครัฐต้องตรงจุดทั้ง 3เรื่อง (การจ้างงาน , การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และดูแลเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว) เพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ด้านระบบสถาบันการเงินโดยรวมนั้นมีศักยภาพเงินกองทุนฯ แต่ก็มีความเปราะบาง เนื่องจากภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบที่อาจส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้และจะส่งผลต่อสถาบันการเงิน ดังนั้นหากสามารถผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกได้มากในภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ไม่ว่าประเด็นเรื่องการจ้างงาน หรือเพิ่มทักษะแรงงาน เหล่านี้จะลดผลกระทบต่อสถาบันการเงินให้น้อยลง
“คณะกรรมการกนง.จึงให้ความสำคัญเรื่องการผลักดันการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุกควบคู่กับการอำนวยสินเชื่อและปรับโครงสร้างธุรกิจเข้าสู่บริบทของโลกหลังโควิด เพราะหากอยู่แบบเดิมอาจไม่รอดทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งทั้งการปรับโครงสร้างหนี้และการให้สินเชื่อยังดำเนินการกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด”