2 สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวมกันประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.15 ล้านล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน อีก 1.36 แสนล้านบาท ยังต้องลุ้นระทึก ระหว่างรอผลการหารือร่วมกันของคณะกรรมการพิจารณาค่าติดตามทวงถามหนี้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทวงถามหนี้พ.ศ.2558 กรมการปกครองกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อกำหนด อัตราค่าทวงถามหนี้ ทั้งในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และ รถจักรยานยนต์และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน หลังจากหารือเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ยังมีความเห็นที่แตกต่าง
ทั้งนี้เพราะ ที่ประชุมได้เสนออัตรา ค่าทวงถามหนี้ ที่แตกต่างกัน โดยค่าติดตามทวงถามหนี้ปัจจุบันที่แต่ละสถาบันการเงินคือ ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์และ ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ต่างกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้แตกต่างกัน เช่น ค่าเบี้ยปรับล่าช้าตาม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ปี2555 และ ปี 2561 (ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา 2561 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2561 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2561),ค่าจดหมายเตือน, ค่าใช้จ่ายในการทวงถาม, ค่าใช้จ่ายบอกเลิกสัญญาและค่าใช้จ่ายในการ ติดตามทวงถามหนี้
อย่างไรก็ตามในการประชุมเบื้องต้นระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นการหารือเกี่ยวกับกระบวนการติดตามทวงถามหนี้ โดยทางภาครัฐ (ธปท.และสศค.) ได้เสนออัตราค่าทวงหนี้ที่จะให้คิดจากลูกค้า 100 บาทต่องวดและให้คิด 500 บาทต่องวด กรณีสถาบันการเงินต้องใช้บริการว่าจ้าง บริษัทรับจ้างติดตามทวงถามหนี้ หรือ กลุ่ม OA :Outsource Agency หรือ เอาต์ซอร์ซ
อัตราค่าทวงถามหนี้ที่ภาครัฐเสนอนั้นเป็นอัตราคงที่ โดยไม่แบ่งชั้นหนี้ที่ค้างชำระ จากปกติที่เคยกำหนดเป็นรายงวด เช่น ชั้นหนี้ที่ค้างชำระ 1-30 วันหรือ 1ง วด, 31-60 วัน หรือ 2 งวด, 61-90วันหรือ 3งวด, 91-120 วันหรือ 4 งวด และ 121 วันขึ้นไปหรือ เกิน 4 งวดขึ้นไป เช่นเดียวกับกรณีว่าจ้างบริษัทเอาต์ซอร์ซที่รัฐเสนอให้คิดอัตราคงที่ 500บาท (ราคาเดียวคงที่)
หากพิจารณาจากข้อเสนอภาคเอกชนนั้น พบว่า เป็น การเสนออัตราแบบขั้นบันได โดยแบ่งอัตราตามความยากและง่ายในการติดตามลูกหนี้ เช่น ค้างชำระ 1-30 วันหรือ 1 งวด คิดราคา 400 บาท, 31-60 วันหรือ 2 งวดคิดราคา 500 บาท, 61-90 วันหรือ 3 งวดคิดราคา 600 บาท, และหนี้ที่ค้างชำระ 4 งวดหรือเกิน 4 งวด (91-120 วันหรือ 4 งวดและ 121 วันขึ้นไปหรือเกิน 4 งวดขึ้นไป) คิดอัตราเท่ากัน 600 บาท ส่วนกรณีค่าติดตามทวงถามที่เอาต์ซอร์ซคิดกับลูกหนี้ตั้งแต่ค้างชำระ 1-4 งวดขึ้นไปเสนออัตรา 500 บาทเท่ากัน
“เท่าที่ทราบอัตราค่าติดตามทวงถามหนี้ ยังมีในส่วนของกรมการปกครองและบริษัทเอาต์ซอร์ซอีกจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งพอร์ตลูกหนี้น้อยกว่าผู้ประกอบการในส่วนกลาง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้มีเอี่ยวในการเสนออัตราดังกล่าว จึงควรจะเปิดเผยออกมาก่อนที่จะประกาศใช้เดือนตุลาคม 2563”
แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตุว่า อัตราค่าทวงถามหนี้ที่ภาครัฐเสนอนั้น แม้เอื้อประโยชน์กับประชาชนรายย่อย แต่ในทางปฎิบัติ ราคาภาครัฐเสนอค่อนข้างตํ่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าทางการเคาะอัตราตามที่เสนอจะกดดันผู้ประกอบการในระบบอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะทางการตั้งโจทย์ว่าผู้ประกอบการได้คิดค่าบริการและค่าธรรมเนียมกับลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นปล่อยสินเชื่อแล้ว ดังนั้นไม่ควรโยนภาระในการติดตามทวงถามหนี้ให้เป็นภาระลูกหนี้ซึ่งไม่เป็นธรรม
ดังนั้น สำหรับสถาบันการเงินหรือเช่าซื้อรายใหญ่อาจต้องนำค่าบริการด้านอื่นมาชดเชยส่วนต่างให้กับ เอาต์ซอร์ซ หรือ OA เช่น เคยจ้างตัวแทน OA 1,000 บาท หากสามารถคิดจากลูกหนี้เพียง 100 บาทส่วนที่เหลืออีก 900 บาทจะต้องรับภาระดังกล่าว
ที่สำคัญ ความพยายามของทางการเพื่อกำกับการประกอบธุรกิจเช่าซื้อหรือ จำนำทะเบียนรถ ซึ่งเบื้องต้นมุ่งวัตถุประสงค์ล้อมคอกผู้ประกอบการนอกระบบ ซึ่งเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ แต่ปัจจุบันทางการกดดันผู้ประกอบการในระบบด้วยการกำหนดเงื่อนไข หรือ มาตรการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากความพยายามกำหนดอัตราค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในแนวปฎิบัติที่จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและจำนำทะเบียนรถ
นอกจากนั้นที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้ทะยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามทางการกำหนดลงมาในระดับหนึ่งแล้ว ล่าสุดทางธนาคาร ออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐส่งสัญญาณจะรุกตลาดรีไฟแนนซ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถภายใน 6 เดือนหลังจากนี้พร้อมประกาศต้องการจะเห็นอัตราดอกเบี้ยลดลง 8-10% ซึ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการเช่าซื้อและจำนำทะเบียนต้องบริหารจัดการ เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563