นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ อีเอเปิดเผยภายหลังโครงการสัมมนาตลาดหุ้น "จับสัญญาณหุ้นไทย หลังโควิด" ว่า ปัจจุบันทางบริษัทฯ เริ่มเติบโตได้จากธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล แต่ที่ผ่านมาพบว่าธุรกิจนี้เติบโตได้ไม่คงที่ รวมทั้งธุรกิจการทำโซลาร์เซลล์ถือเป็นธุรกิจใหม่พอสมควร ใครก็บอกว่าเป็นการขายฝัน แต่เมื่อมีการศึกษาแล้วจึงลงมือทำ โดยบริษัทเริ่มมีทุนจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จำนวน 100 ล้านบาท เริ่มโครงการโซลาร์ฟาร์ม 270 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำให้บริษัทอยู่รอด
ทั้งนี้โครงการโซลาร์ฟาร์มในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แห่ง จำนวน 278 เมกะวัตต์ ทำให้ในช่วงนี้หลายบริษัทให้ความสนใจดำเนินธุรกิจโซลาร์ฟาร์มเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันบริษัทต้องขยายธุรกิจและเริ่มทำธุรกิจด้านการใช้ลม (วินด์ฟาร์ม) ซึ่งการทำธุรกิจนี้ยากกว่าการใช้แสงแดด เพราะเป็นการใช้ลมที่ไม่สามารจับต้องได้ โดยปัจจุบันมีธุรกิจวินด์ฟาร์ม 2 แห่ง จำนวน 386 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว อาทิ จังหวัดในภาคใต้ 1 แห่งและจังหวัดชัยภูมิ 1 แห่ง
"หลังจากเราดำเนินการธุรกิจทั้งสองแล้วมีคนถามว่าเราจะเติบโตต่อได้อย่างไร เมื่อเราฉายภาพนักลงทุนจะมองว่าอีเอเป็นบริษัทที่เติบโตตลอดเวลา ซึ่งเราก็อยากให้บริษัทเติบโตเช่นกัน แต่เราก็รู้ว่าสิ่งที่เรามี มันมีช่วงเวลาของมัน ทำให้เราเริ่มเห็นเทรนด์เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) มาแรงเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ต้นทุนสามารถเดินหน้าไปได้ ราคาถูกลง ซึ่งเป็นการปฏิวัติอะไรหลายอย่างในชีวิตของเรา ทำให้ชีวิตเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการทำโครงการหนึ่งไม่ได้ใช้ระยะเวลาแค่ 1 ปี แต่มันใช้ระยะเวลามากกว่านั้นกว่าจะศึกษาข้อมูลว่ามันใช่ จากที่คิดว่าเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy. Storage) มันคือเกมในการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Game changer) ซึ่งเราต้องดูว่าธุรกิจอะไรที่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับ เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ได้ พบว่า การทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เป็นตลาดที่ตอบโจทย์ได้ โดยใช้โรงไฟฟ้าในการผลิตต่างๆเพื่อเชื่อมต่อระหว่างกัน"
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายอมร กล่าวต่อว่า หลังจากที่บริษัทดำเนินการธุรกิจในการพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า โดยได้รับอานิสงค์จากแคชโฟลว์ของโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทที่มี ราว 10,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อมาต่อยอดธุรกิจเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าจะเป็นธุรกิจใหม่รุ่นที่ 2 ของบริษัท
"ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางบริษัทได้รับผลกระทบน้อยมาก ขณะที่ Performance ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเราสามารถดำเนินการได้ แต่เราจะได้รับผลกระทบในด้านการเดินทาง เนื่องจากบริษัทดำเนินการธุรกิจใหม่ๆค่อนข้างเยอะ เช่น การสั่งซื้อเครื่องจักรและผู้เชี่ยวชาญที่ต้องอาศัยจากการเดินทางนั้นถูกตัดขาด ทำให้ทางบริษัทต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ซึ่งมันไม่ใช่ข้ออ้างหากโครงการล่าช้าออกไป ซึ่งจะต้องดำเนินการต่อให้ดีที่สุดและดำเนินการให้ได้มากพอสมควร รวมทั้งเราทำเพื่อสังคมโดยการบริจาคสิ่งของที่จำเป็น เมื่อสังคมและประเทศอยู่ไม่ได้เราก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกันถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น แต่เราจะเดินหน้าทำต่อไป
ขณะเดียวกันรายได้บริษัทเติบโตขึ้นมาจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่มีมาร์จิ้นต่ำ ทำให้ราคาขายน้ำมันไบโอดีเซลสูงขึ้น ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการปรับเปลี่ยนมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล B7เป็น B10 ในปัจจุบัน ทำให้ขนาดของตลาดเพิ่มขึ้น ด้านธุรกิจโซลาร์เซลล์ ในปี 2563 มีPerformance ดีขึ้น เนื่องจากบริษัทมีการขยายดำเนินการธุรกิจด้านลมเข้ามาเสริม ราว 600 เมกะวัตต์
"เราจะโตอย่างไรต่อนั้นมองว่าหากทำธุรกิจไบโอดีเซลคงถึงทางตันแล้ว พราะการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมัน B10 มันสุดทางแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำคือหาธุรกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โดยเราใช้เวลาศึกษาการบริหารธุรกิจอย่างต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง ก็พบว่าสังคมไทยไม่ชินกับการนำเทคโนโลยีเข้ามา แต่อีเอเติบโตมาแบบอีโค ซิสเต็ม นั่นคือปรัชญาของเราและเราก็จะทำต่อไป ถึงแม้ว่ามีคนมองข้ามอีวีว่าเป็นเรื่องไกลตัว ถ้าหากย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วถือว่าอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิดเพราะทุกๆครั้งที่เกิดการปฏิวัติต่างๆมักจะใช้เวลาสั้นลงเสมอ"
ทั้งนี้บริษัทมีแผนในด้านธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า โดยการผลิตเรือไฟฟ้าโดยสาร ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่เพียง 15-20 นาทีเท่านั้น หลังจากที่มีการศึกษาพัฒนา ราว 3 ปี รวมทั้งโรงงานประกอบชิ้นส่วนเรือไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2563