ในงานสัมมนา “จับสัญญาณหุ้นไทย หลังโควิด” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ผลกระทบโควิด-19 กับการสร้างภูมิคุ้มกันในตลาดทุน”ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในไตรมาส 2/63 ที่เศรษฐกิจติดลบไปถึง 12.2%
นอกจากนั้นยังมีกระทบต่อตลาดทุน ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และกองทุนรวม เช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไปถึง 18% ใกล้เคียงกับหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ยังลดลงน้อยกว่า สิงคโปร์และฟิลิปปินส์
"ผลกระทบโควิด-19 ต่อธุรกิจในตลาดทุน จากข้อมูลเดือนมิถุนายน 2563 ตลาดหลักทรัพย์อยู่อันดับ 25 ของโลก มูลค่าการซื้อขาย 4.3 พันล้านดอลลาร์ ถือว่า ตลาดหุ้นไทยเราปรับลดน้อยกว่าสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ รวมทั้งตลาดลอนดอนด้วย เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า เราไม่ได้ลดลงมากกว่าคนอื่นเขา"
ขณะที่การยื่นขออนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก( IPO )ไม่ได้ลดลง โดยครึ่งปีแรกมีการยื่นเข้ามาถึง 28 บริษัท มูลค่าเสนอขาย IPO รวมเกือบ 7 หมื่นล้านบาท รวมถึงยังมีปริมาณการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 แสนรายและในตลาดตราสารหนี้ ที่ผ่านมาภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตตลาดทุนไทยจะมีความท้าทายมากขึ้น จากรูปแบบธุรกิจและการให้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าจะเกิด Mega Trend 5 เรื่องคือ ธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันจะไม่เห็นการเติบโตเหมือนในอดีตหรือบางอุตสาหกรรมเติบโตได้ แต่บางอุตสาหกรรมเติบโตได้ไม่มาก,การใช้เทคโนโลยีเป็นรายบุคคลมากขึ้น, กลุ่มบริษัทหรือองค์กรจะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น, โลกปัจจุบันเป็นโลกของความผันผวน ความซับซ้อน (VUCA) และการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ เนื่องจากมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และบางหน่วยงานให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากขึ้น
ขณะเดียวกันสถานการณ์ หรือ Scenarios ที่มีโอกาสเกิดขึ้นใน 1-3 ปีข้างหน้าหลังจากวิกฤติโควิด-19 มองว่า ทิศทางการไหลของเงินทุนจะมีความแตกต่างไปจากเดิม, ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำ (lower for longer return), faster fintech distribution และ Fragile people fragile wealth
สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันของตลาดทุนไทย ก.ล.ต.ได้วางนโนบายในยุค New Normal ไว้ 9 ด้านคือ
1. เดินหน้าสร้างช่องทางการระดมทุน SMEs, สตาร์ตอัพ, Smart Farmers ให้เหมาะสมกับเวทีและความต้องการของกิจการ
2. เร่งสร้าง Financial Utiracy, สนับสนุนการลงทุนระยะยาวที่เพียงพอเพื่อรองรับการเกษียณ
3. เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยสนับสนุนความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดให้สอดรับการ Landscape ที่เปลี่ยนแปลงไปและปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อสร้างโอกาสใหม่และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
4. สร้างโอกาสจากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญ รวมถึงผลักดันบทบาทของการเป็น CLMV springboard ของตลาดทุนไทย
5. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล สนับสนุน Online accessto financial service และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายเดิมและรายใหม่ ใช้ดิจิทัลทำธุรกิจใหม่ๆ
6. การกำกับดูแล digital access ที่รักษาความเชื่อมั่นและเป็นธรรม และมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
7. สร้างองค์ประกอบต่างๆ ใน ecosystem เพื่อคว้าโอกาสการลงทุนด้าน ESG
8. ยกระดับความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย
9. ปรับปรุงกระบวนการบริหารความเสี่ยงและมีมาตรการป้องกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ปรีดี’ทิ้งเก้าอี้คลัง ฉุดความเชื่อมั่นรัฐบาล
"ปรีดี" ลาออกไม่สะเทือนหุ้นไทย
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 สิงหาคม - 2 กันยายน พ.ศ. 2563