เมื่อวันที่ 8-10 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและทีมงาน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะนักธุรกิจไทย ได้เดินทางไปยังเมืองชิงเต่า มณฑลชานตง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทำการโรดโชว์โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ที่รัฐบาลไทยผลักดันให้เร่งดำเนินการที่จังหวัดสงขลาเพื่อสร้างความมั่นคงต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ
[caption id="attachment_45490" align="aligncenter" width="500"]
ดูงานบริษัท หลิงหลง[/caption]
เหตุผลที่คณะโรดโชว์มุ่งเป้าไปที่เมืองชิงเต่า เพราะมิใช่เพียงมีชื่อเสียงว่าเป็นต้นกำเนิดของ “เบียร์ชิงเต่า” ที่มีรสชาติเป็นที่ยอมรับติดอันดับโลกเท่านั้น แต่ชิงเต่ายังเป็นเมืองศูนย์กลางยางพาราของจีน ขณะที่มณฑลชานตงถือเป็นเขตที่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยางพารามากที่สุดของประเทศจีน มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารากระจายอยู่ทั่วมณฑล มีปริมาณการใช้ยางพารา 45% ของการใช้ยางทั่วประเทศ
[caption id="attachment_45491" align="aligncenter" width="334"]
วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม
ผู้ว่าการ
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย[/caption]
ส่วนโครงการ Rubber City ของไทยนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีขนาดพื้นที่ 1,218 ไร่ จะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเชิงคลัสเตอร์ สำหรับอุตสาหกรรมยางกลางน้ำและปลายนี้ อาทิ การผลิตถุงมือยาง การผลิตยางคอมปาวด์ การผลิตยางล้อรถยนต์ ถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยผู้ลงทุนในโครงการนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดตามนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ของบีโอไอและการนิคมฯ
[caption id="attachment_45489" align="aligncenter" width="363"]
อรรชกา สีบุญเรือง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า การโรดโชว์ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสมาคมยางพารามณฑลชานตง นำสมาชิกผู้ประกอบการเข้ารับฟังข้อมูล ซึ่งนอกจากกลุ่มนักธุรกิจในชานตงแล้ว ยังมีผู้สนใจจากมณฑล เจ้อเจียง และเจียงซูเข้าร่วมสอบถามและเปลี่ยนข้อมูลด้วย โดยเฉพาะนักลงทุนด้านยางล้อรถยนต์มี 2-3 รายที่แสดงความสนใจ
ด้านผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง การนิคมฯกับ “สมาคมยางพารามณฑลชานตง” ในการสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการยางจีนในไทย กล่าวว่า นอกจากไปนำเสนอข้อมูลโครงการ Rubber City เพื่อดึงดูดการลงทุนแล้ว ยังเป็นการต่อยอดการลงทุนเดิมในอุตสาหกรรมยางอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย เพราะในโอกาสเดียวกันนี้ได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง(Letter of Intent) ระหว่างการนิคมฯ กับบริษัท แอลแอลไอที(ประเทศไทย) จำกัด หรือ LLIT ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท หลิงหลงของจีน ที่ปัจจุบันได้ลงทุนผลิตยางล้อรถยนต์อยู่แล้วในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในระยะที่ 3 เป็นการผลิตยางคอมปาวด์ที่จะต้องใช้วัตถุดิบจากไทยปีละ 1.6 แสนตัน
บริษัท หลิงหลงฯมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่เมืองขาวหยวน มณฑลชานตง เป็นบริษัทที่ติดอันดับ 500 บริษัทชั้นนำของโลก ติด 1 ใน 20 ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ของโลก และ 1 ใน5 อันดับของจีน บริษัท หลิงหลงฯคือผู้ผลิตยางล้อรถยนต์จากจีนรายแรกที่เข้ามาลงทุนในไทย หวังใช้ไทยเป็น 1 ใน 3 ของฐานผลิตนอกประเทศ
ผู้บริหารของหลิงหลงได้ตั้งข้อสังเกตต่อคณะโรดโชว์ของไทยว่า ไม่ได้มีเป้าหมายแค่การลงทุนเพื่อแปรรูปยางและผลิตล้อรถยนต์เท่านั้น แต่มองไปถึงการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายางพาราในพื้นที่ใกล้ๆกรุงเทพฯ คงไม่ลงไปตั้งที่ภาคใต้ ขณะเดียวกันฝ่ายไทยควรเร่งพัฒนาบุคลากรด้านล้อรถยนต์โดยเฉพาะเพื่อรองรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมด้านนี้ เรื่องของอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์นั้นทางไทยต้องมองให้ครบวงจร ไม่ใช่เพียงแต่วัตถุดิบ แต่ยังมีเรื่องของชิ้นส่วนในล้อรถยนต์ สารเคมี เครื่องจัก บุคลากร ฯลฯ หรือเงื่อนไขการลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศในหลายภูมิภาคของโลกที่ต้องการดึงดูดการลงทุนจากจีน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559