นายนณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า หากการชุมนุมที่เกิดขึ้นจบเร็วแบบนี้จะไม่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน หรือประชาชนแต่อย่างใด เพราะไม่เกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้น
อย่างไรก็ตามผลดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะสั้นแต่ในระยะยาวจะต้องจับตาดูว่าทิศทางของการชุมนุมในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด เพราะถึงแม้ว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเรื่องการกลับมาของการชุมนุม แต่เป็นเรื่องของรูปแบบการชุมนุมที่ต้องรับมือ
ดังนั้นภาครัฐควรที่จะต้องจัดการกับข้อเสนอที่ฝ่ายชุมนุมเรียกร้องให้ได้ โดยการประกาศการแก้ไขปัญหาเป็นระยะเวลาที่ชัดเจน ว่ามีข้อใดที่สามารถดำเนินการได้ทันทีก็ให้เร่งดำเนินการและข้อใดที่ต้องการ การแก้ไขในระยะยาวหรือเป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องบอกให้ชัดเจน ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพื่อลดแรงกดดันที่จะเกิดปัญหาขึ้นตามมา
"รัฐบาลต้องบอกให้ได้ว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเป็นอย่างไรและมีการกำหนดไทม์ไลน์ที่ชัดเจนว่าอะไรที่แก้ไขได้ก่อนก็ให้ทำได้เลย เช่น การบูลลี่ในโรงเรียน หรือ กฎระเบียบด้านการเรียนต่างๆ ส่วน อันไหนเป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะทำเมื่อใดเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ"นายนณริฎ กล่าว
ด้านนายสมชาย ภคภาศน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจหรือความเชื่อมั่นสะท้อนได้จากดัชนีหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังคงทรงตัวแต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงเกิดจากโควิด-19 มากกว่า
แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการชุมนุมยังไม่จบสิ้นทั้งหมด ยังจะคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกับการชุมนุมในต่างประเทศที่มีการออกมาชุมนุมเป็นระยะๆ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความกดดันรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของฝ่ายผู้ชุมนุมโดยเร็ว โดยจะต้องพิจารณาว่าจะแก้บางมาตราหรือจะแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งแนวทางทั้ง 2 แนวทางนั้นก็มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
โดยหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็จะทำให้สถานการณ์การชุมนุมต่างๆคลี่คลายลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากมีการแก้ไขบางมาตราก็จะต้อง ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลแก้ไขในมาตราใดซึ่งหากยังแก้ไขไม่ตรงจุดก็อาจจะเกิดการชุมนุมเพื่อกดดันต่อเนื่องได้อีก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาวได้