กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศนัดชุมนุมอีกครั้ง 24 ก.ย. นี้ เปิดโอกาสสร้างโมเมนตัมเรียกแขกสร้างแรงกดดันรัฐบาล จับมวลชนเพิ่มสัปดาห์หน้า ขึ้นกับผู้นำจะเดินยุทธศาสตร์รับม็อบ แต่ใช้กลไกก้าวล่วงเลยเถิด อาจเกิดแรงต้าน ยันระยะสั้นยังเบาใจไม่กระทบเศรษฐกิจ
ตามที่ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศสลายการชุมนุมที่สนามหลวง ภายหลังยื่นหนังสือเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ โดยมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เป็นผู้มารับหนังสือ และได้มีการกำหนดจะนัดชุมนุมอีกครั้งที่สภาผู้แทนราษฎรแห่งใหม่ แยกเกียกกาย ในวันที่ 24 กันยายน 2563
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมืองกล่าวว่า แนวทางดำเนินกลไกของแนวร่วม(ม็อบ)ครั้งนี้ เป็นลักษณะค่อยๆ สร้างแรงกดดันคล้ายในฮ่องกง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า ม็อบครั้งนี้ไม่มีผู้นำและมีความนิ่มนวลมากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการที่จะสร้างโมเมนตัมและเปิดโอกาสสร้างมวลชนให้มาเข้าร่วมชุมนุมในวงกว้าง ดังนั้น การที่ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 24 กันยายนนั้น เพื่อเชิญชวนคนให้มามากขึ้น ซึ่งต้องดูว่าในสัปดาห์หน้าจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การเดินยุทธศาสตร์ดังกล่าว จึงขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะจัดครั้งต่อไป จะรักษาจำนวนคนได้เพิ่มขึ้นขนาดไหนและแรงกดดันขนาดไหน หรือจำนวนคนที่จะเข้าร่วมเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่การประกาศสลายชุมนุมเป็นการเปิดโอกาสให้ม็อบมีเวลาสร้างโมเมนตัม หากสามารถสร้างโมเมนตัมได้แรง ต่อไปก็จะนำไปสู่การปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ(รธน.)
ซึ่งอาจจะเป็น 2แบบคือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา 272 และอาจจะปรับแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยผลจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองแนวทางอาจจะแบ่งเป็น 2 ปัจจัยคือ เกิดการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)เข้ามาทำหน้าที่ หรือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีโดยมีนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเข้ามาแทน และแนวทางที่ 3 ซึ่งไม่น่าจะเกิด เพราะม็อบเริ่มใช้กลไกก้าวล่วงเลยเถิดอาจเกิดแรงต้าน ซึ่งวิธีนี้ยังน้อย
“ตอนนี้ม็อบหยุดก่อน เพื่อดูว่าจะแก้รธน.หรือไม่ รออีก 1-2 สัปดาห์ดูว่า รัฐบาลจะทำอะไรไหม ขณะที่เศรษฐกิจไม่ถูกกระทบ คือ เป็นผลทางเศรษฐกิจเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจจะกระทบจากโควิดมากกว่า”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง