ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส ได้ออก หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ ในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย มูลค่า 140 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เสนอขายกับนักลงทุนสถาบันแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) 3 ราย
โดยจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี Australian Climate Transition Index (ACT Index)หรือ ดัชนีหุ้นของบริษัทที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นดัชนีแรกของออสเตรเลียที่คำนึงถึงการลดโลกร้อน เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมกับบริษัทที่ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ก่อนหน้า เราคงเคยได้ยินคำว่า Green Bond หรือที่เรียกว่า “หุ้นกู้สีเขียว” ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนและระดมทุน โดยที่ภาคธุรกิจจะนำเงินทุนที่ได้จากการออกหุ้นกู้สีเขียวไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของคูปอง(Coupon)หรือดอกเบี้ยหน้าตั๋ว
ปีที่ผ่านมา มีเอกชนหลายรายที่ออก Green Bond ไม่ว่าจะเป็น บมจ.บีทีเอส (BTS) มูลค่ารวม 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้า บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม รวมถึง บมจ.บีกริมพาวเวอร์ฯ มูลค่า 3 พันล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ล่าสุดในปีนี้้คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ประเดิมการออก หุ้นกู้สีเขียว วงเงินรวม 20,000 ล้านบาทในปีบัญชี 2563-2567 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี
ที่ผ่านมา ผู้ออกหุ้นกู้สีเขียว มักกำหนดดอกเบี้ยหน้าตั๋ว เป็นอัตราคงที่ตลอดอายุตราสาร แต่เมื่อเริ่มมีการคุ้นเคยและเป็นที่นิยมของตลาดมากขึ้น มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของหุ้นกู้สีเขียวอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์อื่นในลักษณะเดียวกันกับ หุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) จึงกลายมาเป็น “หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์” (Structured Green Note) ก็เพื่อให้ผลตอบแทนดึงดูดนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น หุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ ก็คือ หุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) ประเภทหนึ่งที่รวมคุณสมบัติของหุ้นกู้สีเขียวและตราสารอนุพันธ์เข้าไว้ด้วยกัน โดยอัตราผลตอบแทนจะกำหนดให้ขึ้นอยู่กับ ราคาสินค้า ราคาหุ้นของบริษัทที่มีส่วนช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ดัชนีหุ้นของกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเข้าข่ายการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
แนวคิดการออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ เริ่มจาก European Investment Bank (EIB) ออก Climate Awareness Bond ในปี 2550 ซึ่งมีลักษณะเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่กำหนดให้การจ่ายผลตอบแทนขึ้นอยู่กับดัชนีหุ้นของบริษัทในยุโรปที่มีการดำเนินงานที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็มีหุ้นกู้ลักษณะนี้ทยอยออกมาอีกหลายรุ่น และตามมาด้วยการมีดัชนีผลตอบแทนตราสารหนี้เพื่อใช้ในการอ้างอิงผลตอบแทนของหุ้นกู้อนุพันธ์
Green Bond Index ตัวแรกจัด ทำในเดือนมีนาคม ปี 2557 โดย Solactive ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำดัชนีในประเทศเยอรมัน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ธนาคารโลกได้ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์รุ่นแรกของโลก มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหุ้นกู้สีเขียวที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับดัชนีราคาหุ้นของบริษัทในยุโรป 30 แห่งที่ดำเนินโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ธนาคารโลกยังได้ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์อีก 10 กว่ารุ่น มูลค่ารวม 600 ล้านดอลลาร์ เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วโลก โดยมากกว่าครึ่งเป็นการเสนอขายแก่นักลงทุนบุคคลรายย่อยในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ในฮ่องกงและสิงคโปร์
นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร HSBC สาขาฝรั่งเศส ออกหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์อ้างอิงกับดัชนี Environmental, Social and Governance (ESG) Index มูลค่า 40 ล้านยูโรในปี 2560 เพื่อนำไปให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสที่ดำเนินงานโครงการประหยัดพลังงาน
ประเทศไทยเองเริ่ม หุ้นกู้สีเขียวได้รับความนิยมและมีการออกแพร่หลายมากขึ้น ดังนั้นหุ้นกู้สีเขียวอนุพันธ์ ก็เป็นอีกนวัตกรรมที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของทั้งผู้ออกและนักลงทุนสายรักษ์โลก ในภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่าเช่นนี้ ซึ่งนอกจากมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แถมยังได้มีส่วนช่วยดูแลโลกอีกทางหนึ่งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
EA ออกหุ้นกู้ 2,200 ลบ. ขายนักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่
ซีไอเอ็มบีไทยรุกหุ้นกู้บุคคลในตลาดรอง-ตั้งเป้าชิงแชร์ใน2ปีที่ 50%
เปิดรับฟังความคิดเห็น คุ้มครองผู้ลงทุน ”หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์”
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,612 วันที่ 24 - 26 กันยายน พ.ศ. 2563