แม้ว่าจะยังทำงานได้ไม่ถึงครึ่งทางของวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ บทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต.ในยุคของ รื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งเคยเป็น 'ลูกหม้อ' ของสำนักงาน ก.ล.ต. ถือว่าโดดเด่นอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคที่ผ่านๆมา ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ รื่นวดี ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับทิศทางการทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต. ในช่วงเวลานับจากนี้ไป โดยเฉพาะการเสริมบทบาทของก.ล.ต. ภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์ที่คาดว่าจะแก้ไขปรับปรุงแล้วเสร็จในปีนี้หรืออย่างช้าไตรมาสแรกปีหน้า ให้ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน ตั้งสำนวน และส่งฟ้องเองได้ เพื่อความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปั่นหุ้นหรือการกระทำผิดใด ๆเกี่ยวกับพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีเนื้อหาน่าสนใจอย่างยิ่ง ดังนี้
เพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอี-ภาคอสังหาฯฝ่าวิกฤตการณ์โควิด
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทุกภาคส่วน ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.มีความคิดว่า จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีเดินหน้าได้ ระดมทุนได้ และมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตลาดทุนด้วยต้นทุนการเข้าถึงที่ต่ำลง รวมทั้งต้องลดอุปสรรคด้านบัญชี คือ ไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีระดมทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิงได้
“ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เราให้บริษัทจำกัดที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) กระจายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไปในวงแคบ ๆ หรือออกหุ้นกู้แปลงสภาพขายให้กับนักลงทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (การระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก (the crowd) ผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง) ซึ่งเราได้ปรับเกณฑ์ต่าง ๆให้ดีขึ้น คล่องตัวขึ้น เช่น หากจะมีการระดมทุนไม่ต้องมาขออนุญาต เพียงแต่รายงานผลการขายให้เราทราบเท่านั้น” รื่นวดีกล่าว
ขณะเดียวกัน สำนักงานก.ล.ต. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมผลักดันการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้นักลงทุนต่างชาติที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยไม่ติดเพดาน 50% เหมือนก่อน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ.ไปแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก.ล.ต. ปลุกเชื่อมั่นนักลงทุน ยืนยัน ตลาดหุ้นไทยแกร่งสู้โควิด
ก.ล.ต.ใต้ปีก 'รื่นวดี สุวรรณมงคล' จ่อตั้งกองทุน อุ้มประชาชน
ตั้ง"บอร์ดกำกับและพัฒนาตลาดตราสารหนี้" มีผล 7 พ.ค.
“เราต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีสภาพคล่อง เพราะอสังหาฯอย่างไรก็เป็นของมีคุณค่า เพียงแต่วันนี้สภาพคล่องอาจจะฝืดไปบ้าง แต่ทุกคนก็รู้ว่าการถือที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เองไว้ มูลค่าค่าเพิ่มขึ้นทุกวัน เราจึงใช้กลไกของกองทุนรวมอสังหาฯมาช่วยในเรื่องนี้ โดยทำหน้าที่เหมือนโรงตึ๊ง เพราะผู้ประกอบการไม่รู้จะเอาของไปตึ๊งที่ไหน” รื่นวดีระบุ
ก.ล.ต.ยุคใหม่เน้นดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ-คุมตลาดหุ้นกู้โตเกินเหตุ
รื่นวดี ย้ำถึงบทบาทการทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต. ยุคใหม่ ว่า “เราไม่ได้อยู่ลำพังแล้วตอนนี้ เราต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย” พร้อมทั้งกล่าวถึงบทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต.ในการเข้าไปกำกับดูแลด้านเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้าไปกำกับดูแลตลาดหุ้นกู้ที่กำลังอยู่ในภาวะ ‘เติบโตเกินเหตุ’
“คำว่าเสถียรภาพ ผู้ว่าฯ วิรไท (วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) มองว่าไม่ใช่แค่ตลาดเงิน แต่เป็นตลาดทุนด้วย เช่น หุ้นกู้ ตอนนั้นตลาดหุ้นกู้โตแบบนี้ไม่ปลอดภัย เมื่อเราเข้าดู คนก็หาว่า ของอยู่ดี ๆจะมาล้างไพ่หรือเปล่า แล้วเขาปิดประตู แต่เราก็เข้าไปทำ เพราะตอนนั้นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดจะ Roll Over ไปเรื่อย ๆ ไม่มีซอฟท์แลนดิ้งเลย ซึ่งถ้าเราไม่ทำก่อนโควิดมา มีหวังแย่แน่นอน เพราะมันโตเกินเหตุ โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์” รื่นวดีบอก
นอกจากนี้ สำนักงานก.ล.ต. ยังมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกเพื่อรับมือความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ หลังเกิดกรณีเทขายกองทุนรวมตราสารหนี้ 4 กอง ก่อนจะเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) เพื่อป้องกันว่า ‘ถ้ามีอะไรขึ้นมาแล้วมันจะไม่ลุกลาม’
อีกทั้งที่ผ่านมาสำนักงาน ก.ล.ต.ได้เข้าไป ‘ขันน็อต’ การเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ที่เป็น High Yield Bond (หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับน่าลงทุน (Investment Grade) หรือต่ำกว่า BBB-) ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่เป็นสถาบัน เช่น แบงก์ และบริษัทประกันภัยด้วย เพราะเบื้องหลังของนักลงทุนสถาบันเหล่านี้ มีผู้ถือหุ้นรายย่อยนับล้านรายอยู่ข้างหลัง หากมีอะไรเกิดขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบในวงกว้างเช่นกัน
ปรับปรุงพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯให้คุ้มครอง 'พยาน' ที่ให้ข้อมูลบริษัททำผิดกม.
ทั้งนี้ ในขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต.มีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้น แต่งานด้านการดูแลและคุ้มครองนักลงทุน ซึ่งเป็นภารกิจหลักของสำนักงาน ก.ล.ต.นั้น มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง
“อย่างล่าสุดเราได้เข้าแก้นิยามเกี่ยวกับนักลงทุนสถาบัน เพราะเดิมเราไปมองว่า คนมีสตางค์หรือกลุ่มลูกค้าสินทรัพย์สูง (High Net Worth) เป็นคนที่มีความรู้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่อย่างที่ผ่านมานักลงทุนที่มีสตางค์กลุ่มหนึ่งไปร้องที่สภาฯว่าได้รับผลกระทบจากการลงทุนหุ้นกู้บริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตามที่เป็นข่าว เราจึงต้องกลับมาแยกแยะ และกำหนดนิยามคนมีสตางค์กลุ่มนี้กันใหม่ รวมทั้งต้องมองนักลงทุนแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น” รื่นวดีกล่าว
สำหรับเรื่องการการยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนนั้น รื่นวดี กล่าวว่า วันนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เพิ่มช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อดูแลผลประโยชน์ของนักลงทุน โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการการคุ้มครองพยานให้กับ ‘ผู้เป่านกหวีด’ (whistleblower : บุคคลที่ให้ข้อมูลภายในขององค์กร เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย) ที่มาให้ข้อมูลกับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจะเขียนมาตรการดังกล่าวเอาไว้ในพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯฉบับที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง
“กลไกในการดูแลนักลงทุนจะต้องทำให้มากขึ้น และจะต้องดูในเรื่องการคุ้มครองพยานด้วย โดยเราจะแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และเอากลไกในการคุ้มครองพยานเข้ามาใส่ เราต้องดูแลให้เขา (คนที่มาให้ข้อมูล) ให้ปลอดภัย และต้องไม่ให้เขาถูกรังแก ซึ่งการดูแลจะมีทั้งการคุ้มครองพิเศษและคุ้มครองทั่วไป เพื่อให้เขามั่นใจว่าเมื่อเขาข้อมูลมาบอกกับเราแล้ว เขาต้องได้รับการดูแลด้วย” รื่นวดีย้ำ
รื่นวดี ยังบอกว่า แม้ว่าการให้องค์ความรู้แก่นักลงทุนจะเป็นเหมือน ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่” แต่เป็นสิ่งที่ต้องพูดย้ำไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้คนรู้จัก และมีความรู้ รวมทั้งต้องปรับรูปแบบการสื่อสารให้ทันกับโลกยุคโซเชียลมีเดียด้วย
“สำนักงานก.ล.ต.ออกบทความไปเยอะ โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรม Search for yield (ภาวะการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า) ไม่ใช่ว่ามารู้อีกทีก็ตอนมีปัญหาแล้ว แต่เราก็มาพบความจริงว่า เราพูดกันเอง คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรับรู้ เพราะหน้าตาพวกเราไม่ได้อยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกันพวกเขา จึงต้องหาช่องทางให้เขาเข้าถึง และเราเข้าถึงเขาด้วย โดยเฉพาะการใช้โซเชียลมีเดียต้องจับให้ติด ส่วนการลงพื้นที่เราก็เริ่มลงไปบ้างแล้ว” รื่นวดีกล่าว
ดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ให้อยู่รอดและแข่งขันได้ในวันข้างหน้า
สำหรับทิศทางการทำงานของสำนักงาน ก.ล.ต.ในระยะถัดจากนี้ไป รื่นวดี กล่าวว่า การผลักดันการซื้อขายสินทรัพย์ จะเป็นงานสำนักงาน ก.ล.ต. เดินหน้าไปต่อเนื่อง แม้ว่าวันนี้ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อยไปกว่าตลาดซื้อขายสินทรัพย์ในตลาดปกติ
“เราไม่ได้หยุดยั้ง และเราก็พยายามสนับสนุนให้ Digital Asset เป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุน โดยเอาดิจิทัลมาใช้ แต่ต้องเป็นการระดมทุนที่มีทรัพย์สินรองรับนะ ไม่ใช่มาขายเหรียญกันเอง เพราะถ้าขายเหรียญกันเอง เราพบว่ามีปัญหาคล้ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเราเองมีแผนจะเข้าไปทำงานร่วมกับกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อดูแลนักลงทุนในส่วนนี้” รื่นวดีกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองตลาดทุนในภาพใหญ่ มีภารกิจอะไรบ้างที่สำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความสำคัญ รื่นวดี บอกว่า เป็นเรื่องของการปรับ landscape (ภูมิทัศน์) ของธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ฯแข่งขันได้ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยเฉพาะวันนี้จำนวนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือโบรกเกอร์ที่ได้รับใบอนุญาตมีถึง 46 ราย และมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ได้รับใบอนุญาต 23 ราย ต่างจากในอดีตที่มีไม่กี่ราย
“เราจะต้องตอบให้ได้ว่าธุรกิจหลักทรัพย์ในวันข้างหน้า หน้าตาจะเป็นอย่างไร โดยเราจะมีการศึกษาร่วมกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราพยายามย้ำ คือ ธุรกิจหลักทรัพย์ฯ ต้องทำธุรกิจที่ไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไปเท่านั้น แต่ต้องมีเรื่องเกี่ยวกับการให้คำแนะนำด้วย ซึ่งตอนนี้ที่หลายคนอยู่ได้ เพราะเขาให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ส่วนในภาพรวมเราต้องมามองร่วมกันว่า จะทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์ฯจะอยู่รอดและแข่งขันได้อย่างไร
ซึ่งเราต้องช่วยกัน อย่างเรื่องการคิดว่าธรรมเนียม เราได้รับการร้องขอให้ช่วยประสานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า เขาถูกเก็บค่าธรรมเนียมสูง ซึ่งเราก็ประสานให้ รวมทั้งจะเข้าไปดูเรื่องการใช้เครื่องมือต่าง ๆที่ทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น การนำระบบ High Frequency Trading (การส่งคำสั่งซื้อขายที่เน้นเรื่องความเร็วในการส่งคำสั่ง เพื่อหวังผลกำไรจากส่วนต่างเพียงเล็กน้อย) มาใช้ เราจะเข้ามาดูทั้งหมด ส่วนในอนาคตจะเหลือผู้ได้รับใบอนุญาตไม่กี่ใบ เรายังไม่รู้” รื่นวดี กล่าว
ใช้บิ๊กดาต้าสอบสวนปั่นหุ้น-ทำงานร่วมกับตลท.ตั้งแต่ต้นทาง
รื่นวดี ยังบอกว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มีแผนผลักดันให้มีการสร้างฐานข้อมูลตลาดทุนที่เป็นแบบเรียลไทม์ และต้องพัฒนาฐานข้อมูลในตลาดทุนให้มีทั้งความลึก ความกว้าง และความหลากหลาย เพื่อให้หน่วยงานกำกับสามารถวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ได้ใกล้ชิดขึ้น ไม่ใช่ว่ากว่าจะรู้ข้อมูลต้องรอ 45 วัน
“แน่นอนว่ามันมีต้นทุน แต่เมื่อราชการทำได้ แล้วทำไมตลาดทุนจะทำไม่ได้ เพื่อที่ว่าเมื่อมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมาจะได้บัญชาการกันได้” รื่นวดี ย้ำ พร้อมระบุว่า “ตลาดทุนยุคนี้จะนำระบบ ‘บิ๊กดาต้า’ มาใช้ในการ enforcement (บังคับใช้) คือ เราจะมีข้อมูลที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในการซื้อขายหุ้น เส้นทางการเงิน และเส้นทางการสื่อสาร ใครติดต่อใคร เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่ามีการปั่นหุ้นหรือไม่ โดยเราลงทุนระบบไปแล้ว และจะลงทุนเพิ่ม”
นอกจากนี้ รื่นวดี กล่าวว่า เพื่อทำให้การตรวจสอบการปั่นหุ้นหรือการกระทำผิดใด ๆเกี่ยวกับพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างหารือกับ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) ร่วมกันตรวจสอบกรณีมีการกระทำผิดกฎหมาย
“ตอนนี้เราเป็นมือสองรองจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ ต้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯไปค้นหามาก่อน แล้วเราก็ค้นหาตามว่ามีจริง หรือไม่มีจริง ซึ่งเราเชิญคุณภากร มาพูดคุยกันว่าจะทำร่วมกันได้หรือไม่ ไม่ใช่เป็นแบบปัจจุบันที่เราต้องรับไม้มาต่อมาอีกทีหนึ่ง โดยเราจะทำเหมือนกับที่ทำร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในกรณีหุ้น EARTH ซึ่งเราเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกับดีเอสไอเลย ไม่ใช่แค่ส่งจดหมายไป” รื่นวดีกล่าว
อย่างไรก็ดี รื่นวดี ยอมรับว่า การตรวจจับกรณีปั่นหุ้นในสมัยนี้เป็นยากในการตรวจสอบ และต้องใช้เวลา
“เท่าที่รับฟังมา คน (ปั่นหุ้น) ไม่เปลี่ยน ไม่ค่อยสร้างทายาท แต่จะอยู่เบื้องหลัง ส่วนคนที่อยู่ข้างหน้าและปรากฏตัวจะเป็นมือปืนคนใหม่ๆ แล้ววันนี้เขาใช้วิธีไปถอนเงินสดแล้วนำมาปั่นหุ้น ทำให้การติดตามทำได้ลำบาก และพอได้เงินมาเขาก็กระจายกัน ซึ่งเขาใช้เงินสด ก็เลยยากในการตรวจสอบและต้องใช้เวลา”
พร้อมกับบอกว่า “วันนี้สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังให้มีการทำวิจัยเรื่องการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ว่า ผลสัมฤทธิ์ของมาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นอย่างไร เพราะแม้ว่าในมุมมองของธนาคารโลก (เวิร์ดแบงก์) บอกว่า มาตรการดังกล่าวทำให้การบังคับใช้เร็วขึ้น แต่ภายใต้ความเร็วขึ้นที่เป็นการจ่ายเงินนั้น ทำให้เขา (พวกปั่นหุ้น) จำหรือไม่ หรือทำให้เขาเข็ดหลาบหรือเปล่า และยังมีคำถามว่าเป็นมาตรการป้องปรามได้หรือไม่”
แก้ไขกม.ให้สำนักงานก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน-สัญญาต้องเสร็จยุคนี้
รื่นวดี กล่าวด้วยว่า ในการปรับปรุงพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯที่กำลังจะเกิดขึ้น สำนักงาน ก.ล.ต.จะผลักดันให้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่า ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน และส่งอัยการฟ้องคดีได้โดยตรง ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายจะสรุปได้อย่างเร็วภายในปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาส 1 ปีหน้า
“เราเสนอว่าพ.ร.บ.ที่จะปรับปรุงใหม่นั้น จะให้ ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนเอง ตั้งสำนวนเอง และส่งอัยการฟ้องโดยตรง ซึ่งภายใต้โครงสร้างการทำงานแบบนี้ เราจะได้คนที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงาน เพราะวันนี้ เราเป็นเหมือนลูกครึ่ง คนที่มาอยู่ก็แป๊บหนึ่ง เพื่อจะย้ายไปที่นั่นที่นี่ และแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่เลย มีมา 17 ปีแล้ว หรืออาจมีมาก่อนปี 2540 ด้วยซ้ำ เราจึงมาคิดว่า เรามาทำเองดีไหม ดีกว่าไปเคลมคนนั้น ๆคนนี้ว่า ทำช้า” รื่นวดีกล่าว และว่า
“ตอนนี้กฎหมายกำลังร่างอยู่ หมดเวลาเถียงแล้ว เดินหน้าอย่างเดียว เพราะคนเขากำลังรอดูเราอยู่ว่า ทำจริงหรือไม่เปล่า โม้หรือเปล่า” พร้อมย้ำว่า “สัญญาเลยว่าในสมัยนี้ จะส่งกฎหมายนี้ไปให้ได้”
รื่นวดี บอกว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ในยุคของเธอจะเป็นยุคที่พร้อมรับการตรวจสอบจากภายนอก และทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง
“เรื่ององค์กร เราต้องทำให้องค์กรเข้มแข็ง และดูว่าคนของเรามีค่านิยมเป็นไปตามนั้นหรือไม่ มีความยืดหยุ่นพอหรือไม่ ซึ่งเราต้องชวนเขาคิด โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จากนี้ไปจะต้องเปลี่ยน จากที่ไม่เคยถูกตรวจสอบจากคนภายนอกเลย ซึ่งนั่นคือปัญหา แต่ต่อไปต้องเอาตัวเองไปประกวดกับ ป.ป.ช. กับหน่วยงานภายนอก และต้องให้คนอื่นเข้ามาช่วยกันมองเราบ้าง ไม่อย่างนั้นเราจะคิดว่าเราเก่งเดียว จะติ จะชม หรือให้ความแนะนำก็ได้” รื่นวดีกล่าวทิ้งท้าย