1 ต.ค. 63 นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายน ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวหลุดระดับ 1,250 จุด ซึ่งเป็นจุดที่บล.ทิสโก้มองว่าเป็นจังหวะทยอยสะสม “เพื่อการลงทุน” เพราะถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้า หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศขาดช่วง และเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ระลอก 2 ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป จนนำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่
ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศส่อแววยืดเยื้อ หลังการประชุมรัฐสภาร่วมในช่วงปลายเดือนที่แล้ว ยังไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดเลย สร้างความกังวลต่อเนื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาที่น่าจะถูกยกระดับขึ้นอีก
สำหรับการลงทุนในไตรมาสที่ 4/2563 คาดว่าตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันต่อเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะตัวเลขรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหภาพยุโรปที่พลิกกลับมาต่ำกว่าระดับ 50 จุดในเดือนกันยายน บ่งชี้ภาวะหดตัวอีกครั้ง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ รอบใหม่ คาดจะมีความล่าช้าต่อเนื่องจนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ไปแล้ว
ส่วนปัจจัยในประเทศ คาดว่าแนวโน้มประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนยังถูกปรับลงอีกจากปัจจุบันนักวิเคราะห์ในตลาด (รวบรวมข้อมูลจากบลูมเบิร์ก) ประเมินว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนปี 2563 จะทำได้ที่ 57.9 บาทต่อหุ้น ขณะที่ปี 2564 จะทำได้ที่ 75.6 บาทต่อหุ้น เพราะได้รับผลกระทบจากการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวช้ากว่าคาด และการระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ ผสานกับปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคาราคาซังต่อไป คาดจะกดดันให้ดัชนีหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งซิกแซกลงต่อโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของไตรมาส 4/2563
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้มองว่าช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 ดัชนีหุ้นไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากความชัดเจนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการเจรจา Brexit ประกอบกับวัคซีนน่าจะมีพัฒนาการในเชิงบวกมากขึ้น โดยมองว่าจะเห็นการโยกเม็ดเงินที่ปัจจุบันยังอยู่ในเงินฝากธนาคารและตลาดเงินจำนวนมากเข้าสู่ตลาดหุ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่จะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานตลอด 3 ปีข้างหน้า
ประกอบกับ บล.ทิสโก้มองว่าตลาดหุ้นโลกซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลานั้นน่าจะปรับฐานราคาลงมาอยู่ในโซนที่น่าลงทุนคุ้มค่าความเสี่ยงแล้วหากเทียบกับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปี 2564 ที่ประเมินไว้ที่ 1,500 จุด นอกจากนี้ ฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับมาเติบโตอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาส 1/2564 เป็นต้นไป จะเป็นตัวขับเคลื่อนดัชนีหุ้นไทยได้เป็นอย่างดีในระยะถัดไป
นายอภิชาติกล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุน บล.ทิสโก้เชื่อว่าหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ หรือปรับลงน้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (Outperform) ต่อไปในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า สังเกตได้จากดัชนี sSET Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญขนาดเล็กซึ่งอยู่นอกกลุ่มดัชนี SET100 ปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่าดัชนี SET100 และดีกว่าดัชนีหุ้นไทยอย่างชัดเจนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และดัชนี sSET Index 9 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวลงเพียง 9% ขณะที่ดัชนี SET 100 ลดลง 25% และดัชนีหุ้นไทยลดลง 21%
3 ปัจจัยหนุนหุ้นขนาดเล็ก Outperform กว่าตลาด
สำหรับปัจจัยหนุนที่คาดว่าหุ้นขนาดเล็กจะ Outperform กว่าตลาดโดยรวมนั้น มี 3 ปัจจัย คือ 1. โมเมนตัมดีทั้งการเคลื่อนที่ของราคาและเม็ดเงินไหลเข้า นอกจากสัดส่วนดัชนี sSET ต่อดัชนี SET (sSET/SET) จะขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่นับจากปี 2562 แล้ว ยังพบว่ามีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนหุ้นขนาดเล็กเพิ่มขึ้นด้วย ไม่เปราะบางเหมือนที่ผ่านมา
2. ตลท.กลับมาใช้เกณฑ์การขายชอร์ต (Short Selling) ตามปกติ น่าจะทำให้มูลค่าชอร์ตเซลมีแนวโน้มสูงขึ้นเข้าสู่ระดับปกติที่เฉลี่ยประมาณ 5% ของมูลค่าซื้อขายรวมของตลาด จากปัจจุบันที่เฉลี่ยต่ำเพียงประมาณ 1% เท่านั้น และหุ้นขนาดใหญ่ถึงกลางที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง คาดจะเป็นเป้าหมายหลักในการขายชอร์ต ดังนั้น จึงมีโอกาสเกิดความผันผวนได้ง่ายกว่าหุ้นขนาดเล็ก
และ 3. แรงขายต่อเนื่องจากต่างชาติ โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ขายสุทธิ 14 เดือนติดต่อกัน ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท และยังไม่มีสัญญาณพลิกกลับมาไหลเข้าในเร็วๆ นี้ ขณะที่ข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมาบ่งชี้โอกาสที่ต่างชาติจะเป็นผู้ซื้อสุทธิในไตรมาส 4 มีเพียง 30% เท่านั้น และมียอดขายสุทธิเฉลี่ย 2.9 หมื่นล้านบาท
15 หุ้นเด่นลงทุนระยะสั้น-กลาง
ดังนั้น หุ้นแนะนำในเดือนตุลาคมจึงเน้นหุ้นขนาดเล็กที่คาดงบไตรมาส 3/2563 ออกมาดีและฐานกำไรปีหน้าจะกลับมาเติบโตสูงกว่าช่วงก่อน COVID-19 แนะนำ BGC, PRM, SEAFCO, SMPC, SYNEX และ TPIPL ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,200 - 1,220 จุด แนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,270 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,295-1,300 จุด ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนระยะกลาง (3-6 เดือนข้างหน้า) ยังแนะนำหาจังหวะสะสมช่วงอ่อนตัว โดยควรเบนเข้าสู่หุ้นขนาดใหญ่และกลางมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส เพราะจะกลับมาเป็นเป้าเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าในระยะถัดไป หุ้นเด่นน่าสะสม “เพื่อการลงทุน” แนะนำ AEONTS, AOT, BAM, BDMS, BEM, CPALL, KTC, MTC และ WHA