ลุ้น“ช้อปดีมีคืน” ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย

11 ต.ค. 2563 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2563 | 10:52 น.

การบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น หลังคลายล็อกดาวน์ แต่ล่าสุดในเดือนสิงหาคม การใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนและหมวดบริการแผ่วลงจากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ มีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสที่แรงส่งของการฟื้นตัวจะอ่อนแรงลงไปอีก

มาตรการช้อปดีมีคืน ที่เกิดขึ้นหลังจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจภาคต่างประเทศของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดระบาดโควิดรอบสอง ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ จึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาตรการจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

 

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล จึงพุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้ระดับปานกลางไปจนถึงระดับปานกลางระดับสูง(Upper middle income) ภายใต้มาตรการช้อปดีมีคืน เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้เสียภาษีในการซื้อสินค้าและได้สิทธิลดหย่อนภาษีีได้สูงสุด 30,000 บาทต่อราย โดยให้ซื้อสินค้าถึง 31 ธ.ค. 2563 โดยคาดว่า จะจูงใจให้ผู้เสียภาษีซื้อสินค้าและนำมาลดหย่อนภาษีได้ประมาณ 3.7 ล้านคน ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ประเมินว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

นอกจากมาตรการช้อปดีมีคืน ก่อนหน้านี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาเป็นระลอก และใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก เหตุเพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว มาตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเข้ามาทำงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ พอดิบพอดี ทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง 

ลุ้น“ช้อปดีมีคืน” ต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทย

เริ่มจากมาตรการ ชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ด้วยการสนับสนุนให้คนเดินทางท่องเที่ยวและซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้านของตนเอง มาตรการเริ่มตั้งแต่ 27 ก.ย.2562 ลากยาวไปถึง 31 ม.ค.2563 มีผู้ใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 11,802,073 คน จากจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ 14,354,159 คน มียอดการใช้จ่ายรวม 28,820 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เป็นการแจกเงินงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายให้ผู้มีสิทธิ์คนละ 1,000 บาท รวม 16,000 ล้านบาท

 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินมาตรการนี้ มีผลกระตุ้นให้เศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยดีขึ้น 0.2% แต่ก็ยังทำให้เศรษฐกิจในปี 2562 ขยายตัวได้เพียง 2.5% ลดลงกว่าเป้าหมายที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ประเมินไว้ที่ 4% แม้จะลดลง แต่ก็ถือว่า เอาตัวรอดไปได้ในปีนั้น

 

มาถึงปี 2563 เศรษฐกิจไทยที่เคยคาดการณ์จะขยายตัวได้ 2% ปรับลดลงจากที่คาดการณ์ครั้งแรกที่ 3.2% แล้วนั้น ก็ยังทรุดต่อเนื่อง เมื่อต้องมาเจอกับพิษโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ผ่าน “เราไม่ทิ้งกัน” ด้วยการแจกเงินคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.2563) ให้กับ 14.5 ล้านคน รวมเป็นเงินงบประมาณ 210,000 ล้านบาท 

 

มาตรการนี้ เป็นมาตรการบรรเทาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากมาตรการล็อกดาวน์ประเทศของรัฐบาล ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงในเดือนเม.ย.2563 จึงเป็นเหมือนการเติมเงินที่หายไปจากระบบมาใช้ นับเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงนั้น ไม่ให้แย่ลง มากกว่าการผลักดันออกมาเป็นตัวเลขจีดีพีอย่างเห็นได้ชัด

 

แต่กระนั้น เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็ติดลบรุนแรงถึง 12.2% ตํ่าสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาดูแลเศรษฐกิจอีกครั้งผ่าน “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “กำลังใจ” รอบนี้ตั้งกรอบวงเงินงบประมาณไว้ที่ 22,400 ล้านบาท แต่สศค.เชื่อว่า จะทำให้มีเม็ดสะพัดเพิ่มถึง 50,000 ล้านบาท และผลักให้จีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.2-03% โดย ณ วันที่ 4 ต.ค.2563 มีผู้ลงทะเบียนสำเร็จแล้ว 5 ล้านคน มีการจองโรงแรมห้องพักแล้ว 1.4 ล้านห้อง คิดเป็นมูลค่า 4,000 ล้านบาท แต่ยังถือว่า น้อยมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ 5 ล้านคืน 

ล่าสุด ศบศ.จึงขยายเวลามาตรการทั้ง 2 ที่จะสิ้นสุด 31 ต.ค. 2563 ไปถึง 31 ม.ค. 2564 และขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณไปถึง 31 มี.ค. 2564 แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวมากขึ้นได้ เพราะคนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ของตัวเอง จึงพยายามที่จะรักษาเงินในกระเป๋าไว้ให้มากที่สุดก่อน การท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่ยังไม่จำเป็นมากเท่าไรนัก

 

ส่งผลให้กระทรวงการคลัง ต้องออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศขึ้นอีกระลอก เพื่อกระตุ้นการบริโภคในช่วงปลายปีนี้ 

 

สรุปโดยรวมมาตรการการคลังที่ออกมาทั้งหมดนั้น รัฐบาลได้ใช้งบประมาณและสูญเสียรายได้จากการดำเนินการไปทั้งสิ้น 309,400 ล้านบาท โดยพยุงให้จีดีพีขยับขึ้นมาได้อย่างน้อย 0.8% 

 

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สศค. ระบุว่า ถ้ากระทรวงการคลังไม่ทำอะไรเลย จะทำให้แย่กว่านี้ แต่พอมีมาตรการเหล่านี้เข้ามา ก็สามารถประคองให้ตัวขับเคลื่อนที่เหลืออยู่อย่างการบริโภคภายในประเทศยังช่วยพยุงเศรษฐกิจอยู่ได้ ซึ่งหลังจากนี้ไป ก็จะต้องหันมาดูเรื่องการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก

จากนี้ คงต้องลุ้นแล้วว่า มาตรการล่าสุดอย่าง ช้อปดีมีคืน จะสามารถต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจไทยที่ได้หรือไม่ 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,617 วันที่ 11 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563