ระหว่าง Index Mutual Fund กับ Index ETF แบบไหนดีกว่ากัน

15 ต.ค. 2563 | 08:02 น.

ไขข้อสงสัย ! ระหว่างการซื้อ Index Mutual Fund กับการซื้อกองทุน ETF ที่เกาะดัชนีหลักทรัพย์ (Index ETF) แบบไหนน่าจะเหมาะกว่า

 

เชื่อว่าหลายคนที่ต้องการลงทุนโดยให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีหลักทรัพย์ น่าจะมีคำถามในใจว่า ระหว่างการซื้อกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเลียนแบบดัชนีหลักทรัพย์ (Index Mutual Fund) กับการซื้อกองทุน ETF (Exchange Traded Fund หรือ กองทุนเปิดที่จดทะเบียนซื้อขายได้สะดวกในตลาดหลักทรัพย์เหมือนหุ้น) ที่เกาะดัชนีหลักทรัพย์ (Index ETF) แบบไหนน่าจะเหมาะกว่ากัน บทความนี้จะมาช่วยไขข้อสงสัยให้กับทุกท่านกันครับ

 

มาทำความเข้าใจในเรื่องความเหมือนและความต่างระหว่างทั้งสองกองทุนกันก่อน

 

ระหว่าง Index Mutual Fund กับ Index ETF แบบไหนดีกว่ากัน

 

ลักษณะของกองทุน

 

ทั้ง Index Mutual Fund และ Index ETF มีการลงทุนตามนโยบายการลงทุนเหมือนกัน เช่น ลงทุนเลียนแบบดัชนี SET50 ลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน หรือลงทุนในทองคำแท่ง เป็นต้น

 

กลยุทธ์การลงทุน

 

ทั้งสองประเภทใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ (Passive Strategy) โดยผู้จัดการกองทุนจะพยายามสร้างผลตอบแทนและความเสี่ยงให้ใกล้เคียงกับดัชนีเปรียบเทียบให้มากที่สุด หมายความว่า ถ้ากองทุนต้องการเลียนแบบดัชนี SET100 หากดัชนีเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น 8% กองทุนก็ควรจะมีอัตราผลตอบแทน 8% หรือใกล้เคียง 8% ให้มากที่สุด

 

การซื้อขาย

ความแตกต่างหลักของกองทุนทั้งสองประเภทอยู่ที่การซื้อขาย โดยที่

 

-- Index Mutual Fund สามารถซื้อผ่านผู้สนับสนุนการขายเป็นหลัก เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และตัวแทนขายอิสระอื่นๆ ซึ่งรายการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างเวลาที่กำหนดจะได้รับราคา (NAV) เดียวกัน ณ สิ้นวันทำการ
 

 

-- สำหรับ Index ETF นักลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้สองช่องทางคือ

 

- ซื้อในตลาดรอง บนกระดานหลักทรัพย์ผ่านบัญชีหลักทรัพย์ โดยซื้อขายได้ราคาระหว่างวันทันที ทั้งนี้ราคาที่ซื้อขายนั้นอาจแตกต่างจากมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนได้ ขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply รวมถึงสภาพคล่อง ด้วย ต่างจาก Index Mutual Fund ที่ไม่ว่าคุณจะซื้อเวลาใดก็ตาม จะได้ราคาตอนสิ้นวันเท่านั้น

 

- ซื้อขายในตลาดแรกผ่านผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน (Participant dealer) ซึ่งสามารถซื้อขายได้ราคาระหว่างวัน โดยดูจากราคาอ้างอิง iNAV (Indicative Net Asset Value คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลงทุนโดยประมาณ) ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนประกาศ

 

จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำในการลงทุน

 

จำนวนเงินขั้นต่ำสำหรับลงทุนผ่าน Index Mutual Fund ถูกกำหนดโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งระบุไว้ใน Fund Fact Sheet ของแต่ละกองทุน เช่น 1 บาท 500 บาท หรือ 1,000 บาท เป็นต้น

 

กรณี Index ETF นั้น ถูกกำหนดโดยตลาดหลักทรัพย์ผ่านจำนวนหน่วยขั้นต่ำที่ 100 หน่วย และทวีคูณของ 100 หน่วย โดยไม่ได้ระบุในเรื่องของจำนวนเงิน เช่น หาก Index ETF ณ เวลาที่ทำการซื้อขายกันราคา 8.26 บาทต่อหน่วย จำนวนเงินขั้นต่ำก็จะเป็น 100 หน่วย x 8.26 บาทต่อหน่วย = 826 บาท เป็นต้น ส่วนการซื้อผ่านผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนจะมีขั้นต่ำค่อนข้างสูง เช่น 1 ล้านหน่วย เป็นต้น

 

ค่าธรรมเนียม

 

หากเทียบค่าใช้จ่ายของกองทุนแล้ว ทั้งสองประเภทมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนค่อนข้างใกล้เคียงกัน และที่สำคัญคือ ต่ำกว่ากองทุนที่มีกลยุทธ์เชิงรุก (Active Strategy) เช่น กองทุนเลียนแบบดัชนี SET50 ค่าบริหารจัดการอยู่ที่ประมาณ 0.50% ต่อปี แต่หากเป็นกรณีกองทุนรวมหุ้นเชิงรุกในตลาดหุ้น ค่าบริหารจัดการจะอยู่ที่ประมาณ 1.50% ต่อปี เป็นต้น

 

-- ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุน

 

Index Mutual Fund บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) จะเป็นผู้กำหนด เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อ/ขาย/สับเปลี่ยน 0.10% ของเงินลงทุน


ส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อขายของ Index ETF นั้น ขึ้นอยู่กับค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งแตกต่างกันระหว่างผู้ให้บริการ และปริมาณการซื้อขาย นอกจากนี้แล้วผู้ลงทุนยังสามารถทำรายการซื้อขายโดยตรงผ่านผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายระบุไว้ชัดเจนเช่นกัน

จากความเหมือนและความต่างของ Index Mutual Fund และ Index ETF พอจะสรุปได้ว่า

 

กรณีนักลงทุนต้องการลงทุนโดยให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีหลักทรัพย์ สามารถเลือกได้ทั้งสองกองทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนี และมีอัตราค่าใช้จ่ายรวมที่ต่ำเช่นกัน แต่ในการซื้อ Index ETF ผู้ลงทุนจะได้ราคา NAV ระหว่างวันทันที ต่างจาก Index Mutual Fund ที่จะได้ราคา NAV ณ สิ้นวันทำการ

 

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการระบุเงินลงทุนที่ชัดเจน เช่น 1,000 บาทต่อเดือน Index Mutual Fund จะเหมาะสมกว่า ต่างจาก Index ETF ที่ผู้ลงทุนจะถูกกำหนดด้วยจำนวนทวีคูณในการซื้อที่ 100 หน่วย ซึ่งราคาต่อหน่วยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

 

- เปรียบเทียบกันในเรื่องค่าธรรมเนียมการซื้อขาย

 

กรณีที่จำนวนเงินลงทุนไม่มาก Index Mutual Fund ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายจะถูกกว่า

แต่สำหรับนักลงทุนรายใหญ่การซื้อ Index ETF ผ่านบัญชีหลักทรัพย์ หรือการขอซื้อหน่วยผ่านผู้ร่วมค้าฯ มีแนวโน้มเสียค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ถูกกว่า

 

อย่างไรก็ตามการซื้อขาย Index ETF ในกระดานหลักทรัพย์ ควรพิจารณาด้วยว่ามีความใกล้เคียงและเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อ้างอิงหรือไม่ เพราะในยามที่ตลาดปรับตัวรับข่าวเกินกว่าที่ควรจะเป็น ราคาของ ETF ระหว่างวันอาจผันผวนออกจากราคา NAV ณ สิ้นวันอย่างมาก ซึ่งเป็นความเสี่ยงและอาจสร้างความเสียหายต่อผู้ลงทุนได้ นอกจากนี้ยังควรพิจารณาถึงสภาพคล่องของ ETF นั้นๆว่าสามารถแปลงสภาพเป็นเงินสดได้ในยามต้องการหรือไม่

 

จะเห็นได้ว่าทั้งสองกองทุนนั้น แม้จะมีนโยบายลงทุนที่เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างที่ผู้ลงทุนควรศึกษา และเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และแผนการลงทุนของตนเองด้วยครับ

 

 

บทความโดย :  คุณพิชญา ซุ่นทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP®  #สมาคมนักวางแผนการเงินไทย #