ความกังวลถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ เศรษฐกิจไทย หดตัวลงลึกแค่ไหน คงไม่สำคัญเท่ากับว่า จะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)จะปรับประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 7.1% น้อยกว่าฟิลิปปินส์ที่ประเมินว่าจะติดลบ 8.3% ซึ่งต่ำสุดในอาเซียน ขณะที่ 2564 จะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 4.0%
ล่าสุดธนาคาร เอชเอสบีซี ประเมินเศรษฐกิจไทยอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 12 ไตรมาสหรือ 3 ปี จึงจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับช่วงก่อนโควิดเท่ากับอินเดีย แต่มากกว่าประเทศ อื่นๆ ในเอเซียแปซิฟิก อย่างฟิลิปปินส์คาดว่า จะใช้เวลา 11 ไตรมาส ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ 9 ไตรมาส มาเลเซียและสิงคโปร์ประมาณ 8 ไตรมาส อินโดนีเซียและเกาหลีประมาณ 6 ไตรมาส และเป็นประเมินก่อนที่การชุมนุมทางการเมืองจะประทุและยืดเยื้อ
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ภาพรวมยังประเมินเศรษฐกิจติดลบ 10.3% เพราะมองไปข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอีกมาก การเปิดประเทศทำได้ช้า ยิ่งเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ยิ่งผูกโยงไปกับเศรษฐกิจได้มาก ฉะนั้นแรงขับเคลื่อนวันนี้ ต้องมาจากภายในเป็นหลักและต้องมาจากภาครัฐ ซึ่งถูกกระทบได้ง่ายและจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ในแง่ของเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น ยุโรปยังเห็นโอกาสฟื้นตัวช้า ขณะที่เศรษฐกิจจีน ฟื้นตัวได้ชัดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เท่ากัน ประเทศ ไทยต้องการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นแล้ว เพราะวันนี้ดีมานด์ในประเทศไม่เพียงพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้จึงต้องพึ่งต่างประเทศ
“จริงๆ เราเตือนแต่แรกแล้วว่า วิกฤติรอบนี้ ไม่ใช่เรื่องความลึกของการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความยาวของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งประมาณการเศรษฐกิจของกรุงศรีฯคาดว่า ระดับมูลค่าของเศรษฐกิจจะกลับมาก่อนระดับโควิดประมาณปลายปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องความยาวเหมือนเราเดินข้ามทะเลทราย วันนี้ขึ้นกับใครมีสายป่าน ที่สามารถประคองให้อยู่รอดจนโควิดหายไป ฉะนั้นการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจจึงไม่ใช่การกระตุ้นระยะสั้น และไม่ใช่หวังผลทำให้เศรษฐกิจเติบโต แต่ต้องสามารถประคองเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ อาจจะหายใจไม่เต็มปอด แต่หายใจพอมีชีวิตอยู่รอดได้ใน 3 ปีข้างหน้า”
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมืองให้ความเห็นว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองมีลักษณะดาวกระจายไปเรื่อยๆ จะกระทบเศรษฐกิจบ้าง โดยเริ่มจากตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มถอนตัวออกจากสองตลาด ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนบ้าง น
อกจากนี้ยังกระทบภาคเศรษฐกิจจริง เพราะดาวกระจายในพื้นที่ ทำให้ธุรกรรมทางเศรษฐกิจหยุดไป และกระทบการจราจรคมนาคม โดยทำให้คนไม่อยากออกจากบ้าน เพื่อใช้จ่ายหรือรับประทานอาหาร หรือในแง่การลงทุนภาคเอกชนบางส่วนอาจจะชะลอ เหล่านี้จะกระทบตัวเลขเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดผลกระทบครึ่งปีหลัง แต่ยังมีโอกาสดีกว่าไตรมาสสอง หลังคลายล็อคดาวน์ ธุรกิจเปิด แต่การฟื้นตัวช้าลงจากการเมือง ซึ่งในแง่ของ
จีดีพีอาจติดลบ 7-9% แต่ปัจจัยการเมืองที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้จีดีพีมีโอกาสติดลบ 8-10%
“ในอาเซียนปีนี้เราจะอยู่หางแถว ส่วนปีหน้าไอเอ็มเอฟประเมินทุกประเทศอาเซียนขยายตัวเกิน 5% แต่ไทยขยายตัวประมาณ 4% ซึ่งดูจากสถานการณ์เวลานี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ติดลบ 7-8% ถือว่าเก่งแล้ว”
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า วันนี้โควิดกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยทั้งปีคาดว่าจะหดตัว 7.5% จากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่การบริโภคในประเทศอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง แม้ไม่รุนแรง แต่จะส่งผลต่อนักท่องเที่ยวในประเทศ ที่ห่วงเรื่องความปลอดภัย อาจเลี่อนหรือระมัดระวังการเดินทาง
นอกจากนั้น คนยัังจะระมัดระวังซื้อสินค้า ซึ่งกระทบการค้าปลีก เพราะห่วงรายได้อนาคต สินค้าขนาดใหญ่ที่มีภาระระยะยาว (รถยนต์หรือบ้าน) และการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนโดยตรง เพราะทุกคนรอความชัดเจน ซึ่งเหล่านี้อาจกระทบชั่วคราว แต่มาตรการรัฐกำลังทยอยออกมา (คนละครึ่ง,ช้อปดีมีคืนหรือให้เงินดูแล) อาจประคองกำลังซื้อบ้าง
“หากการเมืองไม่อยู่ในขอบเขต อาจกระทบความเชื่อมั่นและกำลังซื้อคนในประเทศ และหากมีแนวโน้มลากยาว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจประชุมฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาลดเงินนำส่งกอกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)ทั้งจำนวน หรือลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.25% หรือชวนธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยตามพร้อมกับปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าธปท.มั่นใจ ศก.ไทยแกร่ง ก้าวพ้นวิกฤติ
ขุนคลังเชื่อ เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วกว่าหลายประเทศ
"อาคม"ชู 5 มาตรการฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น
IMF ฟันธง "เศรษฐกิจไทย" รอดตำแหน่งบ๊วยอาเซียน
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,620 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563