สรรรพากรจับมือ 11 แบงก์ เปิดตัว e-withholding TAX

27 ต.ค. 2563 | 10:51 น.

สรรรพากร เผย Digital Transformation ช่วยขยายฐานภาษีเพิ่ม พร้อมร่วมมือ 11 แบงก์ เปิดตัว e-withholding TAX รับยื่น-ชำระภาษีครบ จบทุกขั้นตอน ไม่ต้องเก็บเอกสาร ช่วยลดต้นทุน

ในงานเปิดตัว e-withholding TAX ที่เดียวครบ จบทุกขั้นตอนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในการพัฒนาระบบภาษีด้วยระบบดิจิทัล(Digital Transformation)ตลอด 2 ปีที่ผ่าน ทั้งการทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์/ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt) ,การการรับชำระและคืนภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Tax-VAT Collect and Refund) โครงการสรรพากรดิจิทัลอื่นๆ,

สรรรพากรจับมือ 11 แบงก์ เปิดตัว e-withholding TAX

ความร่วมมือกับสตาร์ทอัพภายใต้โครงการของกรมสรรพากรต่างๆ รวมถึงบริการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) แบบครบวงจร ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานระหว่างผู้ประกอบการ ประชาชน รวมถึงสรรพากรเอง ซึ่งได้ช่วยให้เกิดการขยายฐานภาษีให้กรมฯ ได้มากขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีผู้ยื่นแบบภาษีทั้งเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนหน้ามาก ดังนั้นจึงเชื่อว่าการทำ e-withholding TAX ครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมยื่นแบบผ่านระบบดังกล่าวมากขึ้นได้

 

ทั้งนี้ กรมฯร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย สถาบันการเงินรวม 11 แห่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย ในการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมการชำระภาษี e-withholding TAX ซึ่งจะช่วยลด 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ลดขั้นตอนการยื่นแบบภาษีดังกล่าวให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนให้มีความสะดวกมากขึ้น  2.ลดต้นทุนในการทำธุรกิจทั้งการออกเอกสาร ลดระยะเวลาในการเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการยื่นและการชำระภาษีต่างๆ รวมถึงการเดินทางมายื่นภาษีที่กรมสรรพากร และการจัดเก็บเอกสาร

3.ลดภาษีในการชำระภาษีจากปัจจุบัน การเสียภาษี e-withholding TAX สำหรับการจ้างงานและบริการจะเสียอยู่ในอัตรา 3% จะปรับลดลงเหลือ 2% ถึง ธ.ค. 2564 ซึ่งอาจทำให้การจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกรมจากที่เคยจัดเก็บได้ 7,000 ล้านบาทต่อปี ลดลงไปบ้าง แต่จะทำให้ผู้จ้างและผู้รับจ้างมีสภาพคล่องในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วกรมไม่ได้สูญเสียรายได้ในภาพรวมไป เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรม และนิติบุคคล จะจัดเก็บตามฐานภาษีที่ต้องชำระอยู่แล้ว โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีฐานภาษีตั้งแต่ 0-35% ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะจัดเก็บอยู่ที่ 20%

สรรรพากรจับมือ 11 แบงก์ เปิดตัว e-withholding TAX

4.ลดความยุ่งยากในการยื่นภาษี เพราะสามารถยื่นแบบและชำระภาษีได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วม โดยสถาบันการเงินจะเป็นผู้ยื่นชำระภาษีให้กับผู้เสียภาษีเอง โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องเตรียมหรือจัดเก็บเอกสารเพิ่มเติม ขณะที่ผู้รับจ้างไม่จำเป็นต้องเก็บเอกสารเพื่อยื่นภาษีในปีถัดไปเหมือนที่ผ่านมา

 

5.ลดการตรวจสอบ โดยทั้งผู้ประกอบการและผู้รับจ้าง สามารถตรวจสอบข้อมูลภาษีของตนเองได้ ที่ my tax account ที่จะรวบรวมข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับทั้งหมดของผู้เสียภาษี รวมถึงอัตราที่ต้องชำระภาษีด้วย

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงการบริการทางการเงิน

สรรรพากรจับมือ 11 แบงก์ เปิดตัว e-withholding TAX

ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคและธุรกิจไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาชำระค่าบริการและค่าสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่า การทำ e-withholding TAX จะสามารถต่อยอดการทำธุรกิจและขยายไปสู่การชำระภาษีประเภทอื่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการได้ 

 

“ขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้น e-withholding TAX ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอีให้ความสนใจเข้าร่วมมาก โดยในช่วงแรกสถาบันการเงินจะไม่คิดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ เพื่อสนับสนุนให้คนหันมาใช้ช่องทางดังกล่าวมากขึ้น”นายผยง กล่าว

 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้ความร่วมมือในการยื่น และชำระภาษี e-withholding TAX โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และช่วยผู้ประกอบการในการดำเนินการยื่นภาษีให้มีความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงลดขั้นตอนที่ซับซ้อน นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะขยายการให้บริการการชำระเงินในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพิ่มเติมจากปัจจุบัน ที่ให้บริการการชำระเงินในประเทศ

 

สำหรับธนาคารที่เปิดให้บริการ e-withholding TAX ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 11 แห่งประกอบด้วย 1.KTB 2.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK 3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.BBL 5.ธนาคารมิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพ 6.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY

สรรรพากรจับมือ 11 แบงก์ เปิดตัว e-withholding TAX

7.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB 8.ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น 9.ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด 10.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรรพากร ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 2% ดีเดย์ 1 ต.ค.63

พิษโควิดทำรายได้สรรพากรลดวูบ 120,000 ล้านบาท

“อดีตบิ๊กสรรพากร”เฮศาลถอนคำสั่งปลดออกปมโอนหุ้นชินคอร์ป  

สรรพากร เตือน แม่ค้าออนไลน์ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ด่วน