ราคาทอง ร่วง 14.2 ดอลลาร์ กังวลแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่แน่นอน

05 พ.ย. 2563 | 00:26 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2563 | 07:33 น.

 ราคาทองปิดร่วง 14.2 ดอลลาร์ นักลงทุนลดคาดการณ์แนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ หลังจากที่การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นไปอย่างสูสี

ราคาทอง สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,900 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (4 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนลดคาดการณ์แนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐ หลังจากที่การแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นไปอย่างสูสี และคาดว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้
          

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 14.2 ดอลลาร์ หรือ 0.74% ปิดที่ 1,896.2 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดาวโจนส์ ปิดพุ่ง 367 จุด นักลงทุนยังรอผลเลือกตั้งสหรัฐ

เลือกตั้งสหรัฐ "ไบเดน" นำห่าง หลังคว้าชัยในวิสคอนซิน-มิชิแกน 
          

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 44.1 เซนต์ หรือ 1.81% ปิดที่ 23.893 ดอลลาร์/ออนซ์
          

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 4.9 ดอลลาร์ หรือ 0.56% ปิดที่ 870.1 ดอลลาร์/ออนซ์
          

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 9.80 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 2307.60 ดอลลาร์/ออนซ์
          

ทั้งนี้ แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐได้สิ้นสุดแล้ว ขณะที่ทุกรัฐได้ปิดหีบเลือกตั้ง และนับคะแนนกันแล้ว แต่คาดว่าผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการอาจต้องรอต่อไปอีกหลายวัน เนื่องจากต้องรอผลการนับคะแนนจากอีกหลายรัฐซึ่งมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Votes) จำนวนมาก
         

 แมทท์ เชอร์วู้ด หัวหน้านักวิเคราะห์จากบริษัทเพอร์เพชวลกล่าวว่า "ผมคิดว่าโอกาสที่พรรคเดโมแครตจะคว้าชัยชนะทั้งในทำเนียบขาวและสภาคองเกรสได้ลดน้อยลง ทำให้ลดความเป็นไปได้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่"
          

นอกจากนี้ ข้อมูลภาคบริการที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2558 จากระดับ 54.6 ในเดือนก.ย.
          

ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ในเดือนต.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2561 แม้ว่าการจ้างงานชะลอตัวลง