รัฐมนตรีคลังอาเซม ร่วมหารือผลกระทบโควิด

07 พ.ย. 2563 | 05:28 น.

สมาชิกอาเซม เชื่อมั่นความร่วมมือที่เข้มแข็ง ระหว่างเอเชีย-ยุโรป โดยเฉพาะช่วง ยากลำบากและความท้าทายจาก COIVD-19

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังแถลงว่า นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Finance Ministers’ Meeting: ASEM FinMM) หรือ อาเซม ครั้งที่ 14 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

 

โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ  (นาย A H M Mustafa Kamal) เป็นประธาน พร้อมผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซม ทั้งยุโรป และเอเชียรวม 43ประเทศ ผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศคือ สหภาพยุโรป สำนักเลขาธิการอาเซียน ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3  เข้าร่วมการประชุม

 

รัฐมนตรีคลังอาเซม ร่วมหารือผลกระทบโควิด

หัวข้อหลักที่ใช้ในการหารือคือ การสร้างความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยั่งยืนทั่วถึงและสมดุลจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  โดยมีสาระที่สำคัญ ดังนี้

 

1 การระบาดของ COVID-19 นำมาซึ่งความท้าทายที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ต่อนานาประเทศทั่วโลก ทั้งยังได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงาน รายได้ การประกอบธุรกิจ การลงทุน การค้า และวิถีการดำรงชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางรวมไปถึงผลกระทบต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบที่เกิดจากการระบาดระลอก 2 ที่มีต่อประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาก COVID-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน โดยผู้แทนจากธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้นำเสนอภาพรวมการรับมือกับ COVID-19 ของประเทศต่างๆ โดยใช้นโยบายการทางการเงินและการคลังมาใช้เป็นมาตรการพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบถึงความท้าทายในการรักษาระดับหนี้สาธารณะและความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ

 

นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะในการให้ความสำคัญกับการนำระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมาปรับใช้ และพัฒนาขีดความสามารถของแต่ละประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งการให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อก้าวข้ามวิกฤติทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด(Least Developing Countries)ิ

รัฐมนตรีคลังอาเซม ร่วมหารือผลกระทบโควิด

2.ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์รับมือและมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 โดยในส่วนของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงมาตรการที่รัฐบาลไทยใช้ในการรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ช่วงที่ผ่านมาเช่น การตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการด้านนโยบายการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

การออกมาตรการการเงินและการคลังเพื่อช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อาทิ เงินช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ของธนาคารพาณิชย์แก่บริษัทและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น โดยมาตรการเหล่านี้ล้วนมีการดำเนินการอย่างระมัดระวังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง

 

พร้อมกันนี้ ยังได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเพิ่มเติมถึงความจริงจังของประเทศไทยในการรักษาความสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศในระยะยาว ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้มากยิ่งขึ้น

 

โดยมุ่งที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ และการพัฒนาการใช้ระบบดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้ใช้งานในแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยระบบดิจิทัลจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนในการดำเนินการ และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง

รัฐมนตรีคลังอาเซม ร่วมหารือผลกระทบโควิด

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยทบทวนการปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ และเอื้อต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว และจะมีกการพิจารณามาตรการระยะยาวเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางทางสังคม อาทิ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ

 

“จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์รับมือกับ COVID-19 ของประเทศสมาชิก แสดงให้เห็นว่า การบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม การควบคุมและป้องกันการระบาด การประคับประคองผู้ประกอบการและธุรกิจ และการคิดค้นและแสวงหาแนวทางการรับมือ COVID-19 ที่ยั่งยืน ล้วนเป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ และเอเซมยังคงเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งและความเข้าใจอันดีระหว่างกันของ 2 ภูมิภาค โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศสมาชิกล้วนประสบกับความยากลำบากและความท้าทายอันเกิดจาก COIVD-19”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลัง ค้าน กรุงไทยขอจ่ายเงินผู้ค้าช้า 3-5 วัน

คลัง ขยายเวลาลดภาษีน้ำมันเครื่องบินภายในประเทศ กระตุ้นท่องเที่ยว บรรเทาผลกระทบช่วงโควิด-19

คลัง เชื่อ เศรษฐกิจไทยฟื้นในไตรมาส 4