นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แม้ในปีนี้ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยจะเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และความไม่แน่นอนจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แต่ บจ. ยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สะท้อนจากจำนวน บจ. ที่สมัครเข้าร่วมประเมินความยั่งยืนและผ่านเข้าอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปีนี้ บจ. ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) มี 124 บจ. เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 98 บจ. และ 51 บจ. ในปีแรกของการประกาศรายชื่อในปี 2558
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยเชื่อว่าประเทศจะเติบโตได้ธุรกิจและสังคมต้องเติบโตไปพร้อมกัน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านความยั่งยืนให้แก่ บจ. มาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างโอกาสการได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ทั้งนี้ ความต้องการลงทุนในหุ้นที่มี ESG มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันกองทุน ESG ในประเทศไทยมีถึง 29 กองทุน สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) รวมประมาณ 26,000 ล้านบาท และทั่วโลกมีกองทุน ESG มี AUM มูลค่ารวมเกือบ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นส่วนผลักดันสำคัญที่ทำให้ บจ. ไทยเร่งพัฒนาการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน”
ในปี 2563 ผลการประเมินแสดงให้เห็นว่า บจ. ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) มีการจัดทำแผนต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องในภาวะวิกฤต รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและนำทรัพยากรมาใช้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ ตลอดจนมีกระบวนการดูแลและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายชื่อหุ้นยั่งยืน 124 บริษัท เป็น บจ. ใน SET 114 บจ. และ mai 10 บจ. ประกอบด้วย บจ. ในกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมากที่สุด 21 บริษัท กลุ่มบริการ 20 บริษัท กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและกลุ่มเกษตรและอุตสาหรรมอาหาร 17 บริษัท และ 16 บริษัท ตามลำดับ โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 9.63 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 หรือคิดเป็น 67% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai ซึ่งเท่ากับ 14.39 ล้านล้านบาท
ขณะที่ รายชื่อหุ้นยั่งยืนคัดเลือกจาก บจ. ที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยข้อคำถาม 19 หมวด ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ (รวมบรรษัทภิบาล) สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นวัดผลในด้านกระบวนการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 4 ระดับ ได้แก่ การกำหนดนโยบาย การตั้งเป้าหมายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ การวัดผลลัพธ์จากการดำเนินการ และการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ซึ่ง บจ. ที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนต้องมีคะแนนผ่านร้อยละ 50 ในแต่ละมิติ และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เช่น การประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น การกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบจ. และการไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เป็นต้น โดยมีคณะทำงานเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นผู้กลั่นกรองให้มีความโปร่งใสตลอดกระบวนการ
นอกจากนี้ รายชื่อหุ้นยั่งยืนยังใช้เป็นเกณฑ์คำนวณดัชนี SETTHSI เพื่อส่งเสริมการลงทุนในหุ้นยั่งยืนที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยมีการทบทวนทุกครึ่งปี ทั้งนี้ สามารถดูรายชื่อหุ้นยั่งยืนได้ที่ www.setsustainability.com