"ดร.พิสิฐ" ติงกรณีการตีความสถานภาพ ธ.กรุงไทย ถือเป็นความไม่สมบูรณ์ของระบบบริหารราชการแผ่นดิน

25 พ.ย. 2563 | 10:09 น.

“ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม” ติงกฤษฎีกาควรทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลให้มากกว่านี้ หลังตีความ ธ.กรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า

 

“ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ติง กรณีกฤษฎีกาตีความ ธ.กรุงไทย ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ว่า กฤษฎีกาควรทำงานแน่นแฟ้นกับรัฐบาลมากกว่านี้ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ในระบบบริหารราชการ ซึ่งรัฐวิสาหกิจไม่ควรซ่อนอยู่ในกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน

 

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีข่าวเรื่องสถานภาพของธนาคารกรุงไทย ที่กฤษฎีกามีการวินิจฉัยว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2543 เคยมีความตีความมาครั้งหนึ่งแล้วว่าธนาคารกรุงไทยนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ

 

ทั้งนี้ การตีความในลักษณะกลับลำว่า ธ.กรุงไทยไม่ใช่รัฐวิสาหกิจโดยอิงกับกฎหมายใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ดร.พิสิฐกล่าวว่า ในประเด็นนี้ตนได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า แม้รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการเสนอคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ที่จะให้ธนาคารกรุงไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม คือรับฝากเงิน หรือให้บริการกับหน่วยงานของรัฐได้

 

อย่างไรก็ตาม การเกิดเหตุการณ์ลักษณะที่หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจนั้น ดร.พิสิฐเห็นว่า การทำงานของกฤษฎีกากับของรัฐบาล ควรจะมีความแน่นแฟ้นให้มากกว่านี้ และกฤษฎีกาควรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำมากกว่าที่จะทำหน้าที่เป็นศาลในการตัดสิน ซึ่งหากเปรียบเทียบการทำงานหน้าที่ของศาลแล้ว จะเห็นว่าศาลมีการ “บอกล่วงหน้า” ว่าจะมีการตัดสินชี้ขาดในวันใด ซึ่งจะทำให้องค์กรต่างๆ มีโอกาสได้เตรียมการ แต่สำหรับกรณีของธนาคารกรุงไทยนั้น เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีราคาหุ้นเคลื่อนไหวอย่างอ่อนไหว มีผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เมื่อกฤษฎีกาชี้ออกมา โดยไม่มีการแจ้งใด ๆล่วงหน้า จึงย่อมสร้างผลกระทบอย่างมากมาย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มาดามเดียร์" เผย กมธ. สั่งสอบหาความจริงเพิ่มปมกรุงไทยพ้นรัฐวิสาหกิจ

คลังเสนอให้กรุงไทยเป็นหน่วยงานของรัฐ

พนักงานแบงก์ KTB พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ

อนาคตกรุงไทยหลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

 

นอกจากนี้ ยังมองว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นความไม่สมบูรณ์ของระบบบริหารราชการแผ่นดิน เพราะการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ไม่ควรซ่อนอยู่ในกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากเงินนอกงบประมาณมีจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลควรมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากมีเรื่องลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นมาอีก กฤษฎีกาก็ควรมีการหารือกับ ครม. ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา  ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  KTB ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่อง "แจ้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อสถานภาพของธนาคารกรุงไทย" โดยระบุว่า ธนาคารกรุงไทย ขอแจ้งให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 ธนาคารได้รับหนังสือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ("กองทุน") ซึ่งแจ้งให้ธนาคารทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือของกองทุนฯ ที่ขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับสถานภาพของกองทุนฯ และธนาคารกรุงไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ธนาคารกรุงไทย ไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า "รัฐวิสาหกิจ" ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

 

การเปลี่ยนสถานภาพของธนาคารตามความเห็นข้างต้น อาจมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร และต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจหลายฉบับ ซึ่งธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลกระทบในด้านต่างๆ หากได้ความชัดเจนแล้ว ธนาคารจะได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบในโอกาสต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้ศึกษาผลความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นด้านคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคาร จนได้ข้อยุติว่าโดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ส่งผลทำให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคารไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่นๆ ธนาคารจะเรียนแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน