ธปท. เผยเศรษฐกิจเดือนตุลาคมหดตัวสูงกว่าเดือนก่อน เหตุปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง-ฐานที่สูงจากปีก่อน แจงลงทุนภาคเอกชนหดตัวถึง -4.9% สูงจากเดือน -2.0% เดือนก.ย.ลุ้นแรงส่งจากภาครัฐเคลื่อนเศรษฐกิจ
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนคุลาคม 2563 หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อนจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลง และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อน โดยตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชน ครั้งนี้ถือเป็นตัวเลขที่หดตัวถึง -4.9% เป็นการหดตัวสูงจาก-2%ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัว ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านการก่อสร้าง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลง และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ และคำสั่งซื้อยังไม่เข้ามา ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทาง
อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้เครื่องชี้หลายตัวจะแผ่วลงเมื่อเทียบเดือนก่อนจากปัจจัยชั่วคราวที่หมดลงและฐานที่สูง แต่ 3 ปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์การฟื้นตัวตลาดแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระ สถานการณ์น้ำแล้งที่จะมีผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ระลอกใหม่ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออก"
สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัว -1.1% จากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนกันยายนที่ระดับ 0.4% หลังจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลงตามการใช้จ่ายที่ปรับลดลงในเกือบทุกหมวด โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าคงทน เช่น กลุ่มยานยนต์มีการเติบโตดีขึ้นจากแคมเปญและโปรโมชั่น
มองไปข้างหน้าการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขจำนวนผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงมีอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากสามารถหางานทำได้ แม้ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นผลมาจากแรงงานที่อยู่นอกระบบทยอยเข้ามาหางานทำในระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นดัชนีที่ธปท.จับตาดูอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะลดลงแต่ยังมีความเปราะบาง และยังอยู่ในระดับสูง รายได้ของครัวเรือนภาคครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น
ขณะที่การส่งออกหดตัวอยู่ที่ -5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากไม่รวมส่งออกทองคำจะหดตัวอยู่ที่ -5% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า เช่น ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ และเกษตร
อย่างไรก็ตามการส่งออกบางหมวดสินค้ายังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว เล็กน้อยที่ 0.5%จากการผลิตหมวดยานยนต์และหมวดปิโตรเลียมเป็นสำคัญ
ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัว -10.9% มาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า แต่รายจ่ายลงทุนยังขยายตัว 3.6% ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 18.9% ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
"แนวโน้มไตรมาสที่ 4 มองว่ายังมีการฟื้นตัวยังฟื้นตัวแต่แรงส่งอาจจะไม่แรงเช่นไตรมาส3 ซึ่งกลับมาเปิดเมือง ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจเด้งขึ้นไปสูง"