ลูกหนี้เอ็นพีแอลเฮ แบงก์รัฐช่วยลดต้น-ลดดอก

05 ธ.ค. 2563 | 12:02 น.

คลังสั่งแบงก์รัฐ เร่งบังคับใช้เกณฑ์คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เร็วกว่าเกณฑ์ ธปท. หวังลดภาระให้ประชาชน ธอส.เด้งรับ เริ่มบังคับใช้ลำดับการตัดชำระหนี้ 16 ธ.ค.นี้

รายงานข่าวจาก กระทรวงการคลัง ระบุว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) หรือ แบงก์รัฐ เร่งดำเนินการเรื่องเกณฑ์การคิด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ใหม่ ให้เร็วกว่าเกณฑ์ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้เริ่ม 1 พฤษภาคม 2564 เพื่อลดภาระให้กับประชาชน ในภาวะที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากจากเศรษฐกิจชะลอตัว ที่เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ทั้งนี้ธปท.ได้ประกาศปรับเกณฑ์การชำระหนี้ เพื่อลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพและเพิ่มความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้บริการใน 3 เรื่อง คือ 1.การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดจากเงินต้นงวดที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น จากเดิมที่สถาบันการเงินจะคิดจากเงินต้นคงค้างทั้งหมด ทำให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สูงมาก โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564

 

2.อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้บวกได้ไม่เกิน 3% จากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา จากเดิมที่สถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง โดยส่วนใหญ่จะคิด 15% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยให้มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2564

 

 และ 3.ลำดับการตัดชำระหนี้ ให้ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก จากเดิมเมื่อลูกหนี้นำเงินมาจ่ายหนี้ที่ค้างชำระ เงินจำนวนนั้นจะถูกนำไปจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหรือค่าธรรมเนียมทั้งหมดเป็นอันดับแรก ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดก่อน แล้วถึงจะไปตัดเงินต้น ทำให้ภาระเงินต้นของลูกหนี้ยังคงอยู่ แต่เกณฑ์ใหม่ลูกหนี้จะมีจำนวนเงินต้นที่ค้างชำระอยู่ลดลง และถูกคิดดอกเบี้ยถูกลงด้วย โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2564

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการปรับระบบ เพื่อรองรับกับเกณฑ์ใหม่ของธปท.และจะเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยที่จะเริ่มได้ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้คือ ลำดับการตัดชำระหนี้ ที่ธปท.ให้เริ่มบังคับใช้ 1 กรกฎาคม จากเดิมที่ลูกหนี้นำเงินมาชำระค่างวดที่ค้าง เงินที่นำมาชำระ จะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระก่อน ตามด้วยดอกเบี้ยงวดก่อน แล้วจึงมาตัดเงินต้น แต่เกณฑ์ใหม่จะเป็นการตัดดอกเบี้ย ตัดเงินต้นเป็นงวดๆไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับระบบ ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของทุกแบงก์ลดลงทันที

 

“เกณฑ์ใหม่จะช่วยให้ลูกหนี้ไม่ไหลไปเป็นเอ็นพีแอลเร็วขึ้น และการตัดชำระหนี้แบบใหม่ที่เราเรียกว่า แนวนอนหรือแนวขวางนี้ จะเป็นประโยชน์ในวงกว้างระยะยาว ลูกหนี้ดีก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะจะตัดเงินต้นได้เร็วขึ้น เพราะเป็นการตัดดอก ตัดต้น งวดใครงวดมันไปเลย จากเดิมที่ต้องตัดดอกให้หมดแล้วค่อยมาตัดต้น”

ลูกหนี้เอ็นพีแอลเฮ  แบงก์รัฐช่วยลดต้น-ลดดอก

สำหรับการ คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ขณะนี้คาดว่าจะเริ่มได้ในวันที่ 1 มีนาคม จากเดิมที่ธปท.กำหนด 1 พฤษภาคม 2564  แต่หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการให้มาตรการดังกล่าวเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ก็จะไปเซ็ตระบบให้เร็วขึ้น  

 

ดังนั้น การเร่งดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จึงคาดการณ์ว่า หนี้เสียหรือระดับเอ็นพีแอลของธนาคารจะยังทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันได้ แม้ว่า มาตรการพักชำระหนี้ของธนาคารจะหมดในวันที่ 31 มกราคม 2564 และอาจทำให้ลูกค้ามีความเปราะบางเป็นหนี้เสียมากขึ้นกว่าปัจจุบัน เพราะธนาคารจะมีการปรับลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่เกิน 3% และลำดับการตัดชำระหนี้ ตามเกณฑ์ของธปท. ซึ่งจะสามารถลดภาระด้านดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การปรับเกณฑ์ของ ธปท.ไม่มีผลกระทบต่อลูกค้าธนาคาร เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงการพักชำระหนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2564 และกว่าที่การค้างชำระหนี้และกลายเป็นหนี้เอ็นพีแอลต้องรอถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเกณฑ์ธปท.มีผลบังคับไปแล้วในเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ ซึ่งธนาคารจะมีคณะกรรมการเข้ามาดูลูกหนี้แต่ละชั้นว่า เข้าข่ายเป็นหนี้เสียเท่าไหร่ และจะเป็นหนี้ดีเท่าไหร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้จัดตั้งขึ้นมา

 

ลูกหนี้เอ็นพีแอลเฮ  แบงก์รัฐช่วยลดต้น-ลดดอก

“เรามีลักษณะเฉพาะ เพราะรอบบัญชีที่แตกต่างจากแบงก์รัฐอื่น โดยปีบัญชีเริ่ม 1 เมษายน ไปสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมปีถัดไป และการชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งเป็นเกษตรกรจะเป็นรอบฤดูกาลผลิต ไม่ได้ต้องชำระทุกเดือนเหมือนๆ กับธนาคารอื่นด้วย และแม้จะมีบางสินเชื่อที่เป็นการปล่อยกู้ให้กับนิติบุคคลอย่าง สหกรณ์การเกษตร แต่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือ สหกรณ์การเกษตร แต่เมื่อมีการชำระหนี้คงค้างเข้ามาจะมีการตัดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่แล้วในสัดส่วน 30:70 ตัดต้น ตัดดอก เท่ากับว่า เราทำก่อนธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว” นายสมเกียรติกล่าว

 

ด้านนายวิทัย รัตนกร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารมีฐานลูกค้าเกือบ 5 ล้านรายที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ดังนั้น อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการเซ็ตระบบให้เป็นไปตามเกณฑ์ของธปท. ทั้งเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้

 

ลูกหนี้เอ็นพีแอลเฮ  แบงก์รัฐช่วยลดต้น-ลดดอก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท. ปรับเกณฑ์เงินกองทุนเรียกเชื่อมั่น-หนุนฟื้นเศรษฐกิจ

ธปท.คลอด 3 เกณฑ์ใหม่ คุมแบงก์โขกดอกเบี้ย ผิดนัดชำระหนี้ ตัดค่างวดค้างชำระ

ธปท.-แบงก์ เดินหน้าช่วยลูกหนี้ ดึงบสย. ค้ำประกันซอฟต์โลนเพิ่มเติม

ธอส.เตรียมให้ Cash Back สูงสุด 1,000 บาท กับลูกค้าชำระดี เป็นของขวัญปีใหม่

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,633 วันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ.2563