SSF ไม่ฮอต ไร้เงื่อนไขจูงใจ

10 ธ.ค. 2563 | 11:45 น.

กูรูเผยซื้อขายกองทุนรวม SSF ไม่คึกคักเท่ากับ LTF เหตุเงื่อนไขไม่จูงใจ แนะแยกวงเงินลดหย่อนชัดเจน ชี้มาตรการจากรัฐช่วยเสริมและไม่แย่งส่วนแบ่งเงินลงทุน

เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเข้าซื้อกองทุนรวม เพื่อนำมาใช้ ลดหย่อนภาษี ของเหล่ามนุษย์เงินเดือน รวมไปถึงการออกมาตรการของรัฐบาลที่เข้ามาเสริมอีกทาง ซึ่งปีนี้จะมีกองทุนใหม่คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เข้ามาแทนที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) ที่หมดสิทธิประโยชน์ไปตั้งแต่ปลายปี 2562 และยังมีกองทุนรวมเดิมอีกคือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมีเงินทยอยเข้ามาลงทุนใน RMF แล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท  

 

พูดถึงตัวช่วยในการลดหย่อนภาษีของรัฐบาล  เริ่มมีมาตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่รัฐบาลออกมาตรการ โครงการ “ช็อปช่วยชาติ” สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท และดำเนินมาตรการต่อเนื่องมาในปี 2559-2561 มีการเพิ่มจำนวนวันมากขึ้น แต่วงเงินค่าใช้จ่ายในการหักลดหย่อนภาษียังอยู่ที่ 15,000 บาท 

 

ส่วนปี 2562 ไม่มีมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” แต่มีมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแทน และปี 2563 เปลี่ยนชื่อเป็นมาตรการ “ช็อปดีมีคืน” โดยเป็นการนำค่าใช้จ่ยระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2563 รวม 70 วัน มาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท 

SSF ไม่ฮอต ไร้เงื่อนไขจูงใจ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการของรัฐเข้ามาช่วยเสริม แต่นักลงทุนที่ต้องการลงทุนด้วยการซื้อกองทุน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่ต้องการออมเงินระยะยาว ควบคู่ไปกับการได้ลดหย่อนภาษียังคงมีความต้องการซื้อกองทุนรวม LTF เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงปี 2558-2561 จากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน(สมาคมบลจ.)พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม LTF ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 277,312.72 ล้านบาท, สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 337,392.31 ล้านบาท, สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 397,125.73 ล้านบาท และสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 382,163.50 ล้านบาท ส่วนสิ้นปี 2562 ที่ไม่มีมาตรการของรัฐ อยู่ที่ 406,415.99 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2563 ที่สิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 อยู่ที่ 314,572.00 ล้านบาท

 

นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การเข้าซื้อในกองทุนรวม SSF มีมูลค่ารวมไม่มาก เมื่อเทียบกับ LTF เนื่องจากเงื่อนไขการถือครองระยะเวลา 10 ปี ซึ่งยาวกว่า LTF ที่มีเพียง 7 ปี อีกทั้งวงเงินลดหย่อนยังนำไปนับรวมกับ RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ในการกระจายการลงทุน ไม่เหมือนกับการลงทุนใน LTF ที่เป็นวงเงินเดี่ยว หรือการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX) ที่ีเห็นผลดีกว่า จากช่วงที่เปิดขายเมื่อกลางปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าราว 8,000 ล้านบาทและเข้า SSFเพียง 1,000 ล้านบาท

SSF ไม่ฮอต ไร้เงื่อนไขจูงใจ

ขณะเดียวกัน มองว่า การมีมาตรการของรัฐเข้ามาเป็นทางเลือก ไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อกองทุนรวม เพื่อลดหย่อนภาษี เพราะกลุ่มเป้าหมายไม่เหมือนกัน โดยกลุ่มที่เข้าซื้อกองทุนรวมคือ กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางที่ต้องการมีตัวเลือกในการออม เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอายุงานยังไม่มาก สามารถลงทุนระยะยาวได้ ส่วนมาตรการของรัฐที่ออกมากระตุ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้นะดับกลาง-สูง เนื่องจากมาตรการช็อปดีมีคืนไม่ได้เปิดให้ใช้เฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ยังรวมถึงการใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะเข้ามาช่วยเสริมการลดหย่อนได้อีกทาง

 

“การลงทุนในกองทุนรวม SSF ยังมีจำนวนไม่มาก หากจะให้มีกระแสเงินเข้ามาส่วนนี้ ต้องมีเงื่อนไขจูงใจมากกว่านี้ ไม่ใช้เพียงแค่ลดหย่อนภาษี ซึ่งในส่วนแรกคือการแยกวงเงินออกจากกองทุนรวม RMF และ PVD ก่อน เพราะเป็นการแย่งวงเงินกันเอง ส่วนการที่มีมาตรการของรัฐเข้ามาช่วยเสริมนั้น ไม่ได้เป็นการแย่งส่วนแบ่งไป แต่เป็นการช่วยเสริมกันมากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมายังมีความต้องการออมเงินอยู่ และมาตรการที่ออกมานั้นก็มีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บลจ.กสิกรไทย ชวนลงทุน SSF-RMF ต่างประเทศ เซฟภาษีปลายปี

บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะลงทุน SSF-RMF ช่วงโค้งสุดท้ายปี

บลจ.ธนชาต เพิ่มทุนกอง T-ES-GGREEN เป็น 12,000 ล้าน

บลจ.ไทยพาณิชย์ ส่ง SCBEAI1YA ลุยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,634 วันที่ 10 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2563