ปัจจุบันการวางแผนการเงินที่คนเริ่มให้ความสนใจ คือ “การวางแผนมรดก” ซึ่งหลายคนยังเข้าใจว่า เป็นเรื่องสำหรับคนรวย หรือคนที่มีทรัพย์สินมากเท่านั้นที่มีความจำเป็นต้องวางแผน แต่จริงๆ แล้ว การวางแผนมรดกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนที่อยากส่งมอบทรัพย์สินให้กับลูกหลานหรือคนที่รัก รวมถึงหากไม่ได้วางแผนมรดกว่าจะส่งมอบทรัพย์สินอะไรให้กับใครบ้าง อาจสร้างปัญหาตามมาในภายหลังได้
หากพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่วางแผนมรดก จากข่าวที่เกิดขึ้นจริง หรือจากละครที่เราได้รับชม (ซึ่งมักมีเค้าโครงอ้างอิงจากเรื่องจริง) อาจแบ่งได้เป็น 2 ปัญหาใหญ่ๆ ด้วยกัน
1. ปัญหาการดำเนินชีวิตของคนในครอบครัว
เมื่อหัวหน้าครอบครัวจากไปก่อนวัยอันสมควร ทำให้คนในครอบครัวที่เรารับผิดชอบดูแลไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อได้ หรือมีคุณภาพชีวิตไม่เหมือนเดิม หรือหนักกว่านั้น คือภาระที่ตกมายังคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน หรือความรับผิดชอบในการดูแลคนในครอบครัวคนอื่นๆ แทนหัวหน้าครอบครัวที่จากไป
2. ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัว
ครอบครัวที่มีทรัพย์สินมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก เงินลงทุน อสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินที่สามารถประเมินมูลค่าได้ แต่ไม่ได้มีการวางแผนมรดกไว้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนในครอบครัวในการแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สิน หรือการส่งต่อมรดกไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของมรดก นอกจากนี้การแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และการพิสูจน์ทายาทตามกฎหมายอาจใช้เวลานาน
ทางเลือกในการส่งต่อมรดกที่คนส่วนใหญ่นิยมทำ คือ “การทำพินัยกรรม” ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก ไม่สามารถทำได้เอง ต้องมีการจ้างทนายความ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำพินัยกรรมมีหลายวิธี มีทั้งแบบที่เขียนหรือพิมพ์ด้วยตัวเอง หรือแบบที่ทำที่เขตหรืออำเภอ แต่ต้องเป็นไปตามแบบหรือวิธีที่กฎหมายกำหนด เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้การส่งต่อมรดกเป็นไปตามความต้องการของผู้ให้ และช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีการระบุชื่อผู้รับมรดกไว้ชัดเจน
การทำพินัยกรรม มีข้อดี คือ สามารถส่งมอบทรัพย์สินที่มีให้กับบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ทายาทหรือญาติได้ แต่ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีมรดกตามกฎหมายภาษีมรดก
ทั้งนี้ อีกวิธีหนึ่งในการวางแผนมรดกที่ทำได้ง่าย คือ “การทำประกันชีวิต” ซึ่งสามารถกำหนดจำนวนเงินที่ต้องการส่งมอบให้กับครอบครัว โดยระบุชื่อผู้รับประโยชน์และสัดส่วนการรับเงินไว้ในกรมธรรม์ ที่สำคัญสามารถสร้างมรดกได้โดยไม่ต้องใช้เงินจำนวนเยอะเท่ากับจำนวนเงินที่เราตั้งใจส่งมอบให้
ยกตัวอย่างเช่น คุณผู้ชายหัวหน้าครอบครัว อายุ 40 ปี ต้องการสร้างมรดก 10,000,000 บาทให้กับครอบครัว สามารถทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หากทำแบบจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี จะจ่ายเบี้ยประกันปีละ 257,500 บาท กรณีจ่ายเบี้ยประกันครบ 20 ปี รวมเป็นเงิน 5,150,000 บาท แล้วมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาที่อายุ 90 ปี จะได้รับเงินตามทุนประกันชีวิต คืนกลับไป 10,000,000 บาท
แต่สมมติเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในปีแรกที่จ่ายเบี้ยประกันเพียง 257,500 บาท คนในครอบครัวที่ระบุไว้เป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ จะได้รับเงินค่าสินไหม 10,000,000 บาท เพื่อใช้ดำเนินชีวิต หรือเป็นเงินทุนตั้งต้นของครอบครัวต่อไป จะเห็นได้ว่าการสร้างมรดกด้วยวิธีนี้เราไม่จำเป็นต้องมีเงิน 10,000,000 บาท ตั้งแต่ตอนแรกเลย
ข้อดีของการวางแผนมรดกผ่านการทำประกันชีวิต
1. กำหนดเป้าหมายจำนวนเงินที่แน่นอนที่ต้องการส่งมอบให้แก่ทายาทได้
2. จัดการเงินได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล หรือผู้จัดการมรดก โดยทายาทหรือผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ สามารถรับเช็คจากบริษัทประกันได้ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์
3. ไม่ต้องเสียภาษีมรดก เนื่องจากสินไหมหรือเงินที่รับตามกรมธรรม์ ไม่ได้จัดเป็นทรัพย์มรดกที่มีไว้ก่อนตาย ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
4. สร้างหลักประกันด้วยเงินก้อนใหญ่โดยใช้เงินก้อนเล็ก เพราะแบบประกันส่วนใหญ่ ทุนประกันชีวิตจะมากกว่าเบี้ยประกันชีวิต เป็นการเตรียมเงินในอนาคตที่เรายังไม่มีในตอนนี้ได้นั่นเอง
5. สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้
กรณีผู้รับประโยชน์หรือทายาทที่ไม่ทราบว่าบุคคลในครอบครัวได้ทำประกันชีวิตไว้หรือไม่ สามารถติดต่อยื่นคำร้องเพื่อขอตรวจสอบได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
สำหรับเงินที่ผู้ทำประกันชีวิต หรือผู้รับประโยชน์ ไม่ได้รับตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ผู้รับประโยชน์ไม่ทราบว่าบุคคลในครอบครัวได้ทำประกันชีวิตไว้จนระยะเวลานานเกิน 10 ปี บริษัทประกันชีวิตจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนตามกฎหมาย ที่เรียกว่า เงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ โดยผู้รับประโยชน์สามารถตรวจสอบและขอรับเงินผลประโยชน์ดังกล่าว คืนได้ที่กองทุนประกันชีวิตภายในระยะเวลาอีก 10 ปี
ประกันชีวิต ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินตัวหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนมรดก นอกจากปกป้องความเสี่ยง หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะเห็นประโยชน์อีกมุมหนึ่งของการประกันชีวิต และจะดีกว่าไหม ถ้าวันนี้เราสามารถสร้างมรดกได้มากกว่าที่เรามีในปัจจุบัน
โดย แพรวพิรยา ศิริวัฒนาดิเรก นักวางแผนการเงิน CFP®