ล็อกดาวน์"สมุทรสาคร"ทำเศรษฐกิจสูญเสีย 4.5 หมื่นล้าน

23 ธ.ค. 2563 | 01:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2563 | 08:56 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดล็อกดาวน์สมุทรสาครทำเศรษฐกิจสูญเสียในรอบ 1 เดือน 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศถึง 30% หรือราว 1.7 หมื่นล้านบาท 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ซึ่งเริ่มต้นจากตลาดกุ้งในสมุทรสาคร จนกระทั่งนำมาสู่การล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่ 19 ธ.ค.63-3 ม.ค.64 ขณะเดียวกันก็พบจำนวนผู้ติดเชื้อที่กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดของประเทศไทย
         

ในเบื้องต้นภายใต้กรณีที่ไม่พบคลัสเตอร์ของจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดอื่นหรือเหตุการณ์ไม่ลุกลามจนนำมาสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ประเมินว่าภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียจากการระบาดรอบใหม่ของ โควิด-19 คิดเป็นมูลค่าราวๆ 45,000 ล้านบาทในกรอบเวลา 1 เดือน แบ่งเป็น
         

- ความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่อาจมีมูลค่ารวมกันราว 13,000 ล้านบาท จากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น นอกจากนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในระยะถัดไปก็อาจจะได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะในด้านขั้นตอนการตรวจสอบและกระบวนการต่างๆ ที่คู่ค้าอาจหยิบยกให้ผู้ประกอบการไทยมีการดำเนินการเพิ่มเติม  
         

- ความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท
         

- ความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือราว 30% โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคกลาง รวมกรุงเทพฯ ตลอดจนจังหวัดรอยต่อชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา
         

นอกจากนี้ ยังอาจมีผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างชัดเจน อาทิ ผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าอื่นๆ ในตลาด จากการที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัญจรโดยเฉพาะการสัญจรไปในพื้นที่ที่มีการระบาดหรือพบผู้ติดเชื้อ เป็นต้น
         

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมข้างต้น เป็นกรอบการประเมินเบื้องต้นจนถึง ณ ขณะนี้เท่านั้น ซึ่งหากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ สามารถควบคุมได้ และภาครัฐมีมาตรการที่สร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสที่มูลค่าความสูญเสียจะต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้