นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยว่า ซีไอเอ็มบีไทย ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2563 ลงเล็กน้อยจากเดิม -6.6% เป็น -6.7% และในปี 2564 จาก 4.1% เป็น 2.6% โดยเพิ่มสมมติฐานสำคัญ 3 ประการ คือ การระบาดของโควิด-19 ลากยาวต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกและการรักษาระยะห่างที่ยังมีความจำเป็นตลอดทั้งปี
ปัญหาการเมืองที่อาจกลับมากระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภคในปีหน้า หากรัฐสภาและผู้ประท้วงไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และความล่าช้าในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ทั้งจากการระบาดในต่างประเทศ และการที่คนในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีน
ขณะที่ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงมุมมองการแข็งค่าของเงินบาทไว้ที่ระดับ 28.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปีหน้าจากปัญหาเงินร้อนที่จะทะลักเข้าตลาดทุนไทย ประกอบกับการที่ไทยยังคงเกินดุลการค้าในระดับที่สูง ซึ่งสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าลากยาว ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย
"เรามองว่า แม้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงฟื้นตัวช้าในปี 2564 แต่หลังจากคนไทยได้รับวัคซีนมากขึ้นและมีการควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในต่างประเทศ การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาและน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเร่งตัวได้ดีขึ้นในปี 2565"นายอมรเทพกล่าว
ทั้งนี้เพราะ การกลับมาระบาดของไวรัสโควิด รอบใหม่ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศที่มีโอกาสลดลงต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า ส่งผลกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง และธุรกิจอื่นที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ที่มีการระบาดมากระมัดระวังการเดินทางออกจากบ้าน ธุรกิจและโรงเรียนต่างๆ อาจเริ่มให้ทำงานและเรียนหนังสือจากที่บ้านในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งจะกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีช่องทางการขายออนไลน์
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยจะไม่หดตัวรุนแรงเหมือนที่เผชิญการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส2 เพราะภาครัฐมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามพื้นที่บ้าง แต่จากการระบาดที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
อีกทั้งผู้ประกอบการที่ขายสินค้าและอาหารได้ลดลงในช่วงที่คนจำนวนมากเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้านทำให้ขาดรายได้ และอาจกระทบการจ้างงาน แม้การว่างงานอาจไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ชั่วโมงการทำงานอาจลดลง ส่งผลให้รายได้นอกภาคเกษตรยังคงอ่อนแอในปี 2564 การบริโภคภาคเอกชนจึงมีโอกาสอ่อนแอลงกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าและมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะยังคงซึมยาวตลอดทั้งปี
"เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงต่อเนื่องจากปีนี้จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น และจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค แต่เรามองว่าความเสี่ยงในประเทศยังไม่น่ารุนแรงเท่าความเสี่ยงจากต่างประเทศ เช่น การกีดกันทางการค้าที่อาจมีต่อเนื่องในสมัยไบเดน และจากปัญหาเงินร้อนที่อาจมาทะลักเข้าตลาดทุนไทยตามสภาพคล่องที่ล้นในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทแข็งและกระทบความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ล็อกดาวน์"สมุทรสาคร"ทำเศรษฐกิจสูญเสีย 4.5 หมื่นล้าน
“อาคม” เผย งบปี 65-68 เน้นฟื้นเศรษฐกิจ-หั่นงบที่ไม่จำเป็น
EIC เตือน “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ปัจจัยสำคัญฉุดเศรษฐกิจไทยปี 64
ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจับตาสถานการณ์"แรงงาน-น้ำแล้ง-โควิดรอบใหม่"