“กลุ่มเทคโน” หุ้นเด่นปี64 รับวัคซีนโควิด

01 ม.ค. 2564 | 03:46 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ม.ค. 2564 | 10:46 น.

โบรกคาดเศรษฐกิจปี 2564 ฟื้นตัว ดันตลาดหุ้นไทยบวกตาม มองธีมลงทุนหุ้นอิงเศรษฐกิจโดดเด่น ไฟแนนซ์รับประโยชน์ดอกเบี้ยต่ำ แต่ค้าปลีกและท่องเที่ยวยังเสี่ยง ชี้ต้องใช้เวลาพอสมควร 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนปี 2563 มากสุดคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเดือนมีนาคม 2563 เป็นช่วงที่แย่สุดของปีจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลต่อหุ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้ปรับลดลงแรง ตามดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลงมากที่สุดของปี รวมถึงเป็นเดือนที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงที่สุดด้วย แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย หุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรมได้ปรับเพิ่มขึ้นมาได้ และปรับขึ้นได้ดีกว่าดัชนีหุ้นไทยด้วย

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พบว่าเดือนมีนาคม 2563 หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงมากที่สุดคือ กลุ่มการเงิน (FINCIAL) ลดลง 23.78% ซึ่งธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์(FIN) ลดลงมากที่สุด 29.57% และธนาคารพาณิชย์ (BANK) ลดลง 23.14% รองลงมาคือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) ลดลง 19.44% โดยธุรกิจกระดาษและวัสดุการพิมพ์ (PAPER) ลดลง 26.98% และธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ลดลง 21.53% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงน้อยที่สุด คือ กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) ที่ปรับลดลงเพียง 4.89% รองลงมาคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) ลดลง 12.24% เป็นการปรับลดลงน้อยกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ลดลง 16.01% 

ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ 37.66% สวนทางดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลง 5.92% โดยเฉพาะธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์(ETRON) ที่เพิ่มขึ้นถึง 544.14% และตั้งแต่วันที่ 1-25 ธันวาคม 2563 กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) ปรับเพิ่มขึ้น 34.95% สูงกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.54% โดยธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON)เพิ่มขึ้น 138.17% จากราคาหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) ปรับเพิ่มขึ้น 453.00 บาท หรือ 196.10% เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 และตั้งแต่ต้นปีปรับเพิ่มขึ้น 630.50 บาท หรือ 1,178.50%

“กลุ่มเทคโน” หุ้นเด่นปี64 รับวัคซีนโควิด

ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ของ DELTA ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 853,209.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 786,474.10 ล้านบาทจากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 66,734.92 ล้านบาทปรับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 3 จากอันดับที่ 54 เมื่อสิ้นปีก่อนรองจากอันดับ2 คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(AOT) อยู่ที่ 892,896.25 ล้านบาทและอันดับ 1 คือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (PTT)อยู่ที่ 1,199,645.84 ล้านบาท 

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปี 2564 เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ แม้จะมีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 แต่ยังมีมาตรการเศรษฐกิจของสหรัฐที่ช่วยหนุน ขณะที่ในไตรมาส 1 ปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ในไทยยังน่าเป็นห่วง จากการพบผู้ติดเชื้อที่เร่งขึ้นในช่วงปลายปี 2563 โดยมองว่า หากคุมไม่อยู่แล้วเกิดการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนช่วงกลางปี 2563 จะเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวช้า

อย่างไรก็ตามธีมการลงทุนในปี 2564 กลุ่มที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจจะโดดเด่น เช่น กลุ่มปิโตรเคมีรวมถึงกลุ่มไฟแนนซ์ที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยระดับตํ่า โดยคาดว่า จะมีการตั้งสำรองลดลงและคุณภาพสินทรัพย์จะดีขึ้น และกลุ่มหุ้นปันผลอย่างกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงและฟื้นตัวช้า คือ กลุ่มการบริโภคและค้าปลีก เพราะต้องใช้เวลาค่อยๆฟื้น อีกทั้งกลุ่มมีเดียที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องอัดเม็ดเงินโฆษณาและกลุ่มท่องเที่ยวที่คาดว่า จะกลับมาฟื้นได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2564

ด้านบล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)จำกัดระบุว่า คาดว่าตลาดหุ้นไทยปี 2564 จะผันผวนขึ้นลงรุนแรง แต่มีแนวโน้มอิงทางขึ้นเป็นหลักตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาส 2 ปี 2564 ตามความคาดหวังวัคซีนไวรัสโควิด-19 ที่มีความเป็นไปได้ว่า ไทยจะสามารถนำเข้าได้ในกลางปี 2564 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง หลังผ่านจุดตํ่าสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจไปแล้ว แต่หลังจากที่ทั่วโลกประกาศใช้วัคซีนกันถ้วนหน้าแล้ว ตลาดหุ้นไทยจะปรับฐานเข้าสู่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นรายตัวมากขึ้น เช่น หุ้นที่มีผลประกอบการแข็งแกร่งจะไม่ถูกเทขายทำกำไรเท่าไหร่นัก ส่วนหุ้นที่ผลประกอบการยังไม่แข็งแรงก็อาจจะถูกเทขายค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามมองว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงหลังจากนี้กำลังจะเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวจากจุดตํ่าสุด ซึ่งในช่วงต้นของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ อาทิBANK,ขนส่งและโลจิสติกส์(TRANS) และสินค้าอุปโภคและบริโภค(Consumer Cyclical) โดยกลุ่ม BANK จะได้ประโยชน์จากการที่สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ส่วนกลุ่ม TRANS จะได้ประโยชน์จากการขนส่งที่ดีขึ้นตามกิจกรรมการทางเศรษฐกิจที่จะมีมากขึ้นและการเดินทางที่จะเริ่มกลับมาหลัง AstraZeneca มา ตั้งฐานผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในไทย และกลุ่ม Consumer Cyclical จะดีจากการที่ผู้บริโภคเริ่มมีรายได้ รวมถึงกำลังซื้อมากขึ้น 

 

หน้า 14 หนังสืออพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564