"เยียวยาโควิด"รอบ2 กลุ่มไหนมีลุ้นได้สิทธิรับเงิน เช็กที่นี่

07 ม.ค. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2564 | 05:26 น.

เปิดกรอบการใช้ เงิน "เยียวยาโควิด" รอบ2 เช็กรายละเอียด กลุ่มไหน มีลุ้นได้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

ความคืบหน้ากรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงบประมาณ หามาตรการเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่เพิ่มเติม หรือ "เยียวยาโควิด"รอบ2

 

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เตรียมความพร้อมในการ "เยียวยาเกษตรกร" รอบใหม่

 

ขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่า กระทรวงการคลัง  สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาโควิดรอบใหม่ หนึ่งในนั้นอาจมีโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” รอบ 2

กระทรวงการคลังยืนยันว่ามีเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบใหม่ จาก 3 แหล่ง ดังนี้

 

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโควิด จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท

 

2. เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่เหลืออยู่ จำนวน 4.7  แสนล้านบาท

 

3. งบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 
อย่างไรก็ตามในพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท กำหนดกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดไว้อย่างชัดเจนว่า จะนำใช้เยียวยาได้ใน 4 แผนงาน คือ 

 

1. แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด

 

2. แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด

 

3. แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด

 

4. แผนงานหรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และชดเชยประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอัน เนื่องมาจากการระบาดของโควิด

 

หมายความว่ากลุ่มที่จะได้รับการเยียวยาโควิดรอบใหม่จากพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท จะครอบคลุม ประชาชา เกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด

 

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 7 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงมาตรการเยียวยาโควิด ช่วงหนึ่งในรายการ  PM PODCAST ผ่าน เพจไทยคู่ฟ้า ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาเยียวยาโควิดในภาพรวม ซึ่งคงไม่ใช่แค่เฉพาะประชาชน ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่มีปัญหาเช่นกัน ก็ขอให้รออีกสักนิด

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลทราบดีว่าทุกคนลำบาก ช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการช่วยเหลือประชาชนโดยใช้เงินกู้ต่างๆ ยืนยันว่าการให้เงิน 4,000 บาท ยังไม่มีการประกาศออกไปเป็นข่าวที่ถือว่าไม่จริง ทุกคนอาจจะอยากได้แต่ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง แต่เราก็มีงบประมาณค่อนข้างเพียงพอทั้งงบรายจ่ายที่เตรียมไว้กรณีฉุกเฉิน งบเงินกู้และงบสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบคาดว่ายังเพียงพออยู่ 

 

อัพเดทมาตรการเยียวยา

 

8 มกราคม 2563

 

ธนาคารออมสิน เปิดให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 28 จังหวัด หรือพื้นที่สีแดง ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบค.) ลงทะเบียนขอรับการเยียวยาโควิดผ่าน www.gsb.or.th 

 

- สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้บริการ คาดว่าจะให้สิทธิ์โทรฟรี ส่วนดาต้า อาจจะเพิ่มความเร็ว เป็นต้น

 

- การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กำลังพิจารณาในรายละเอียดการลดค่าน้ำประปา และการลดค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระประชาชนในช่วงการระบาดของโควิดระลอกใหม่ และจูงใจให้ประชาชนอยู่บ้าน

 

- กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) จะเสนอครม. ยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบกิจการรายปีแก่ร้านนวด สปา กว่า 10,000 แห่ง เป็นระยะเวลารวม 2 ปี เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม.พิจารณามาตรการช่วยเหลือทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเช่น การพักหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

 

การพักหนี้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่จะเสนอให้ครม.พิจารณา มีรูปแบบทั้งการเติมสินเชื่อและดูแลหนี้ให้กับประชาชน รวมทั้งธุรกิจภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบด้วย เช่นการพักเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุ้น คลัง ฟื้น “เราไม่ทิ้งกัน” จ่ายเงินเยียวยา พิษโควิดระลอกใหม่

ลุ้น “เยียวยาเกษตรกร” รอบ2

คลัง เตรียมออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่