อนาคตศาสตร์ แนวทางฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม

16 ม.ค. 2564 | 05:15 น.

NIA เร่งสร้างนักอนาคตศาสตร์ หวังนำข้อมูลสถิติ วิเคราะห์ภาพอนาคต คาดการณ์เศรษฐกิจและสังคม เพื่อเตรียมรับมือ ชี้เป็นโอกาสสร้างนวัตกรรม

สถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาในหลากหลายด้าน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากการคาดการณ์อนาคตมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูประเทศในระยะยาว “นักอนาคตศาสตร์” ซึ่งจะเป็นผู้วิเคราะห์ภาพของอนาคตที่จะเกิดขึ้น ผ่านการประมวลผลข้อมูลทางสถิติ จึงมีความจำเป็น เพื่อสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับมือและการปรับตัวในมิติต่างๆ รวมถึงคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมและจะเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรม ทั้ง ระบบสังคม การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลก

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหน่วยงานระดับสากลที่นำศาสตร์ด้านการมองอนาคตไปใช้ในการวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูประเทศในระยะยาวอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและความมั่นคงพร้อมทั้งกำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญซึ่งประเทศชั้นนำและประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนนำมาใช้จนประสบผลสำเร็จแทบทั้งสิ้น 

 

สำหรับประเทศไทย NIA ให้ความสำคัญกับ อนาคตศาสตร์ ผ่านการทำงานของ “สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม : Innovation Foresight (IFI)” เพื่อปรับเปลี่ยนและยกระดับศักยภาพด้านต่างๆ ของไทย พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดนักอนาคตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำนโยบายเชิงนวัตกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรและประเทศต่อไป 

 

ที่ผ่านมา NIA ได้นำ อนาคตศาสตร์ มาศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ทั้งการพัฒนาย่านนวัตกรรม (Innovation District) ในพื้นที่นำร่อง 10 แห่ง เช่น  ย่านนวัตกรรมโยธี ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ย่านนวัตกรรมภูเก็ต ฯลฯ และศึกษาภาพอนาคตเพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมในพื้นที่ (Social Foresight) ใน 4 จังหวัดนำร่องคือ พะเยา กาฬสินธุ์ พัทลุง สตูล และปีนี้มีแผนจะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มอีก รวมถึงศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ (AgTech Trends) 

 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

นอกจากนั้น NIA ยังได้นำ อนาคตศาสตร์มาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มปัญหาและความต้องการทางสังคมที่ถือเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงหลักสำหรับประเทศไทยในช่วงทศวรรษใหม่ ในปี 2021-2030 พร้อมคาดการณ์โอกาสของนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนและยกระดับคุณภาพชีวิตใน 3 มิติคือ 

 

ระบบสังคม(Social System)  การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร และรูปแบบของระบบการเมืองการปกครอง ส่งผลให้ระบบสังคมเกิดความแตกต่าง และความไม่เท่าเทียมกันอย่างเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จึงหนีไม่พ้นที่ภาครัฐจะต้องเป็นตัวกลางเร่งให้เกิดนวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมให้บริการสาธารณะที่เข้าถึงประชาชนทุกคน รวมถึงควรเน้นส่งเสริมการกระจายอำนาจบริหารจัดการ และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสสำหรับความคิดที่แตกต่าง และส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในระบบสังคมมากยิ่งขึ้น

 

อนาคตศาสตร์ แนวทางฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม

การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม(Climate Change) ไม่เพียงแต่ภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ขยะพลาสติก ฝุ่น PM2.5 วิกฤติด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า นํ้าท่วม นํ้าแล้ง แผ่นดินไหว ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระบบเศรษฐกิจและการผลิตที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพและผลกำไร นี่จึงถือเป็นปัญหาสำคัญที่เราควรตระหนัก และเร่งทำนวัตกรรมที่จะสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังคงมีอยู่ และยิ่งเมื่อสหรัฐมีผู้นำคนใหม่ ทำให้เป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก ทั้งผู้ผลิตต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า รวมถึงผู้บริโภคอย่างไร ระบอบเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ใครจะเป็นผู้ควบคุมระบบจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่นี้ และประเทศไทยโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ก็จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 

 

ภาวะวิกฤติในระดับโลกเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยแนวทางการดำเนินการรูปแบบใหม่ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดอย่างยั่งยืน

 

หน้า 18 หนังสือฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลอโนโวชูนวัตกรรมรับการเปลี่ยนแปลงโลก

“อาลีบาบา”เผย 10 เทรนด์เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

รวมไฮไลท์เทคโนโลยี”ซัมซุง”คว้าInnovation Awards CES 2021

“Innovation” เปลี่ยนโลก

เจาะเทรนด์ธุรกิจปี 64 แนะใช้เทคโนโลยี รับวิถีคนเจนใหม่