สัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) สำหรับหุ้นที่จะเสนอขายจำนวน 3,000 ล้านหุ้น (นับรวมกรณีใช้สิทธิ์หุ้นส่วนเกินหรือกรีนชูทั้งจำนวน 390 ล้านหุ้น ) ที่หุ้นละ 16 - 18 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 41,760 – 54,000 ล้านบาท โดยจะประกาศราคาสุดท้ายภายในเวลา 9.00 น. ของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564
OR เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของบมจ.ปตท. (PTT) เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นวันที่ 25 – 28 มกราคม 2564 ส่วนผู้จองซื้อรายย่อย วันที่ 24 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2564 และผู้ลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศรวม 28 รายเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2564
หุ้น OR จำนวน 2,610 ล้านหุ้น จัดสรรกลุ่มสถาบัน 65.7%
1.ผู้ถือหุ้นของบมจ.ปตท. (PTT) เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น จำนวน 300 ล้านหุ้น หรือ 11.5%
2.ผู้จองซื้อรายย่อย 595.7 ล้านหุ้น หรือ 22.8%
3.ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 1,714.30 ล้านหุ้นหรือ 65.7% แบ่งเป็น
-ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศ จำนวน 1,264.3 ล้านหุ้น หรือ 48.5%
- ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในต่างประเทศ จำนวน 450 ล้านหุ้น หรือ 17.2%
ทั้งนี้ผู้ลงทุนสถาบันกลุ่ม Cornerstone Investors ในประเทศที่ได้รับการจัดสรรมากสุดคือ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำนวน 239 ล้านหุ้น รองลงมาเป็น บลจ.บัวหลวง และบลจ.กสิกรไทย ได้รับจัดสรรรายละเท่ากันที่ 143.5 ล้านหุ้น ส่วนกลุ่ม Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ ที่ได้รับจัดสรรมากสุด คือกองทุนสิงคโปร์ GIC Private Limited จำนวน 215 ล้านหุ้น
OR มีทุนจดทะเบียน 9,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท หลังการเสนอขาย IPO บริษัทฯจะมีทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านหุ้น (ภายใต้สมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) และคำนวณตามราคาไอพีโอ OR จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท จัดอยู่ในกลุ่ม SET 50 โครงสร้างผู้ถือหุ้น PTT ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 75% ( จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 100% ) กลุ่มสถาบัน (ในและตปท.) ถือ 14.29% จำนวนนี้เป็นกองทุนสิงคโปร์ GIC Private Limited ถือหุ้นสัดส่วน 1.79%
OR ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีแบรนด์สถานีบริการน้ำมัน คือ ptt station และแบรนด์ร้านกาแฟ คือ คาเฟ่อเมซอน
ระดมทุนใช้เงินรองรับแผน 5 ปี
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนของ OR ตามที่ระบุใน ไฟลิ่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ) ระบุบริษัทฯ มีแผนจะใช้เงินเพื่อรองรับแผนขยายงานของบริษัทในช่วง 5 ปี 2564-2568 ดังนี้
1.ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันใช้วงเงิน 13,300 ล้านบาท โดยจะขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ "ptt station" รองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ
2.ขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ประมาณ 3,800 ล้านบาท
3. ธุรกิจคลังเก็บสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมันใช้เงินประมาณ 8,500 ล้านบาท
4. ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกใช้วงเงินประมาณ 9,800 ล้านบาท
- คาเฟ่อเมซอน 418 แห่งต่อปี
- ขยายสาขาร้านอาหารเท็กซัสชิกเก้น 20 แห่งต่อปี
- ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ 19 แห่งต่อปี
5.ธุรกิจต่างประเทศ ใช้เงินประมาณ 5,000-9,500 ล้านบาท บริษัทมีแผนจะเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ในต่างประเทศจำนวน 64 แห่งต่อปี และยังมีแผนขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกในต่างประเทศ
6. เป็นทุนหมุนเวียน ชำระคืนเงินกู้ และการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ New S-Curve ใช้เงินประมาณ 679 - 8,309 ล้านบาท
OR จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินได้แก่ บล.ฟินันซ่า ,บล.เกียรตินาคินภัทร ,บล.บัวหลวง ,บล.กสิกรไทย และ บล.ทิสโก้
OR เข้า SET 50 มาร์เก็ตแคป 2 แสนล้าน
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด ระบุว่า การเข้าซื้อขายของหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ ปกติจะกดดันตลาด และหุ้นในกลุ่มเดียวกันปรับตัวลดลงในช่วง 1 เดือนก่อนเข้าตลาด เนื่องจากกองทุนทั้งในและต่างประเทศจะต้องเตรียมเงินปรับพอร์ต เพื่อจองซื้อหุ้นไอพีโอ สะท้อนได้จากหุ้นบมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ก่อนเข้าตลาด 1 เดือน ดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 6.75% และลงแรงกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ลดลง 3.5% เช่นเดียวกับ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ก่อนเข้าตลาด 1 เดือน ดัชนีหุ้นกลุ่มค้าปลีกลดลง 10.6% ลงแรงกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ลดลง 5.3%
"หุ้นไอพีโอขนาดใหญ่อย่าง OR เตรียมเข้ามาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเมินว่ามีสัดส่วนมูลค่ากิจการประมาณ 5% ของมูลค่าหุ้นพลังงานทั้งหมดในตลาด ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนของ AWC เทียบกับกลุ่มฯ และ CRC เทียบกับกลุ่มฯ ซึ่งมีสัดส่วนสูงเกิน 15.9% และ 15.4% ตามลำดับ ดังนั้นสัดส่วนขนาดของหุ้น OR ที่มีไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่ม หนุนให้การปรับพอร์ตของกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเตรียมเงินในการจองซื้อหุ้น OR ถือว่ามีความคล่องตัวมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้กดดันดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานไม่มากตามไปด้วย"
นอกจากนี้ หุ้น OR มีโอกาสเข้า SET50 และ SET100 แบบ Fast Track จากเกณฑ์ตลาด คือใหญ่กว่าหุ้นอันดับที่ 20 ของหุ้นในตลาด โดยเบื้องต้นประเมินมูลค่ากิจการ OR ในวันที่เข้าตลาดมีโอกาสสูง 200,000 -270,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่ามูลค่ากิจการล่าสุดของหุ้นใหญ่อันดับที่ 20 อย่าง KTC ที่201,000 ล้านบาท ทำให้มีหลักทรัพย์ที่ต้องออกจากดัชนีSET50 คาดว่าเป็น COM7, TTW และหุ้นที่มีโอกาสออกจาก SET100 คือ TKN, BEC, MAJOR, WHAUP
ด้านนายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยฝ่ายวิเคราะห์และนักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่าช่วงราคาไอพีโอที่ 16-18 บาท เป็นระดับที่เหมาะสม ไม่ได้ถูกหรือแพงจนเกินไป คิดเป็นระดับ Forward ที่ 16-18 เท่า จากการคำนวณอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 1 บาทต่อหุ้น โดยถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Forward P/Eของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงอย่างธุรกิจค้าปลีกน้ำมันที่อยู่ระดับ 17-20 เท่า และธุรกิจ non oil อยู่ที่ระดับ 25-28 เท่า
"ความต้องการจองซื้อหุ้น OR ของนักลงทุนสถาบัน( Bookbulding) คาดจะอยู่ในระดับสูงหรือเกินกว่าจำนวนที่จัดสรร ประกอบการช่วงหลัง ๆบริษัทขนาดใหญ่มักได้รับการตอบรับจากนักลงทุนที่ดี และมาร์เก็ตแคป OR น่าจะอยู่ระดับ 200,000 ล้านบาทที่จะเข้าไป SET 50 ซึ่งจะเป็นเป้าหมายของนักลงทุน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดีเดย์ 24 ม.ค.นี้ ปตท.เปิดโอกาสประชาชนซื้อหุ้น OR
รายย่อยกาปฏิทิน เตรียมจองซื้อหุ้น OR
OR กำหนดช่วงราคาไอพีโอหุ้นละ 16-18 บาท
ปตท.เคาะสูตรจัดสรรหุ้นไอพีโอOR "95 หุ้น PTT ต่อ 1 หุ้น OR"