คลั่งบิตคอยน์ แห่เก็งกำไรเดือด เตือนนักลงทุนอย่าถือยาวขึ้นแรงลงเร็ว

20 ม.ค. 2564 | 09:15 น.

วงการคริปโต ส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่แห่ลงทุน “บิตคอยน์” ระวังขึ้นเร็วลงแรง “บิทคับ” คนไทยคลั่งบิตคอยน์ เปิดปีมา 7 วัน ยอดลูกค้าใหม่ทะลักวันละ 40,000 คน ยอดเทรดต่อวัน 4,500 ล้านบาท โต 1,000%  ทำระบบล่ม ล่าสุดทุ่ม 240 ล้าน เร่งขยายลงทุนรับโต พร้อมตั้งกองทุน 100 ล้าน สร้างความเชื่อมั่นลูกค้า

 

บิตคอยน์ ปีวัวไฟร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ เมื่อ 8 มกราคม 2564 โดยราคาทะยานขึ้นไป 41,962 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 1.2 ล้านบาท เหตุผลที่ทำนักลงทุนแห่เข้าไปลงทุนบิตคอยน์จนให้ราคาสร้างสถิติสูงสุดมาจากความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อโดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกิดจากสถานการณ์โควิด ขณะที่สถาบันทางการเงินรายใหญ่หันมาให้ความสนใจบิตคอยน์ และคริปโตเคอร์เรนซีต่างๆเพื่อถือเป็นทรัพย์สินสำรอง รวมถึงกระแสข่าวที่ Paypal ประกาศเตรียมเปิดให้บริการชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีภายในปี 2564 นี้ ความร้อนแรงของบิตคอยน์ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มออกมาส่งสัญญาณเตือนนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่ที่แห่ตามเข้าไปลงทุน

 

คลั่งบิตคอยน์ระบบล่ม

 

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ความร้อนแรงของบิตคอยน์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสร้างสถิตินิวไฮ 41,962 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 1.2 ล้านบาท จากปรากฏการณ์ปีทอง หรือ โกลเดนเยียร์ ของบิตคอยน์ ในปี 2564 ซึ่งจะเกิดขึ้น 4 ปีต่อครั้ง เป็นลักษณะของการจำกัดซัพพลายบิตคอยน์ที่ผลิตเข้ามาใหม่ลดลงครึ่งหนึ่ง ทำให้ความต้องการบิตคอยน์และราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มบิทคับ มีการเติบโตขึ้น 1,000% หรือ 10 เท่า ภายในระยะเวลา 7 วัน จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 1,000% ภายในระยะเวลา 12 เดือน โดยมียอดการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านตลาดบิทคับ 4,500 ล้านบาทต่อวัน จากเดิม 400 ล้านบาทต่อวัน มีผู้มาสมัครเข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านกระดานบิทคับ เพิ่มขึ้นวันละ 40,000 คนทุกวัน 

 

จากกระแสความร้อนแรงของบิตคอยน์ และเติบโตของการซื้อขายที่รวดเร็วเกินคาด มีทั้งคนใช้งานเป็น และใช้งานไม่เป็น ทำให้ระบบกระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบิทคับมีความล่าช้าจนท้ายสุดระบบล่ม และมีการปิดระบบคอลเซ็นเตอร์ซัพพอร์ตลูกค้า เนื่องจากไม่สามารถรองรับการให้บริการลูกค้าได้ทัน แต่มาเลือกใช้บริการแชท ในการให้บริการตอบคำถามและแก้ปัญหาลูกค้า ซึ่งสามารถให้บริการได้ 4-5 คนพร้อมกัน

 

ทั้งนี้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นบริษัทจึงได้ตัดสินใจลงทุน 240 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจรอบด้าน ทั้งบุคลากรที่ขยายเพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกส่วนงาน โดยปีนี้มีการเปิดรับพนักงานใหม่เพิ่ม 300 คน จากเดิม 220 คน ขยายระบบไอที อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สำนักงาน รวมมูลค่าการลงทุน 140 ล้านบาท  ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นทั่้งระบบกระดานซื้อขาย และคอลเซ็นเตอร์นั้นขณะนี้เริ่มกลับมาให้บริการตามปกติคาดว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์จะสามารถดำเนินการได้เต็มที่ นอกจากนี้บริษัทยังได้นำเม็ดเงิน 100 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนพิเศษ “Bitkub Customer Protection Fund” ขึ้นมา เพื่อเป็นแบ็กอัพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ซึ่งในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะมีเงินกองทุนรองรับแน่นอน

 

นายจิรายุส กล่าวต่อไปอีกว่า การฟื้นตัวของบิตคอยน์รอบนี้เหมือนทุกๆ รอบที่มีผู้ลงทุนหน้าใหม่เข้ามาและนักลงทุนรายบุคคลส่วนใหญ่น่าจะเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น จึงอยากเตือนผู้ลงทุนว่าอะไรที่ราคาขึ้นมาแรง เวลาลงก็จะแรงเหมือนกัน จึงอยากแนะนำให้นักลงทุนที่พร้อมรับความเสี่ยง โดยราคาลง 20% ถือเป็นเรื่องปกติของวงการบิตคอยน์ และควรนำเงินเก็บไว้สำหรับลงทุน หรือเงินเย็น มาใช้เทรดบิตคอยน์ เพื่อเป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อใช้กระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุน”

 

แนะอย่าถือยาว

 

ด้านนายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง และกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่นเปิดเผยว่า ราคาบิตคอยน์ ที่ร้อนแรงอยู่ขณะนี้ นักลงทุนต้องระมัดระวัง และควรซื้อขายแบบมองข้อมูลเชิงพื้นฐานและศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้วยเพื่อป้องกันความเสี่ยง และจะซื้อขายให้ปลอดภัยต้องผ่านเว็บเทรดที่ ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต) เท่านั้น

 

ทั้งนี้คำแนะนำสำหรับนักลงทุนรายย่อย คือ คาดว่าราคาของบิตคอยน์จะคงอยู่ที่ 20,000-26,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม หลังจากนั้นจะมีโอกาสลงมาปรับฐาน และหลังจากเดือนเมษายน อาจมีการปรับตัวขึ้นอีกรอบ ดังนั้น “ต้องระวังไม่ถือยาว” เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มดีขึ้น จึงเล่นตามเทรนด์ของตลาด อย่างไรก็ตาม ต้องบริหารความเสี่ยงและการลงทุนให้ดี เนื่องจากธรรมชาติของคริปโตเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง

 


ไทม์ไลน์บิตคอยน์

 

ผันผวนเสี่ยงเงินหาย

 

ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าราคาบิตคอยน์ ไม่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ใดๆ อีกทั้งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากราคาหุ้นที่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทหรือวัฏจักรทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่หลายงานวิจัยค้นพบตรงกันคือ ราคา บิตคอยน์ วิ่งตาม Sentiment ในข่าวหรือสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Twitter Reddit ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถจับกระแสเหล่านี้และนำมาวิเคราะห์ หากช่วงนั้นมีคำที่เกี่ยวข้องกับ บิตคอยน์ ในเชิงบวก เช่น good, rise, profitable ราคา บิตคอยน์ จะวิ่งขึ้นต่อ รวมทั้งสกุลเงินดิจิทัลตัวหลักอื่นๆ ค่อนข้างวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าแต่ละสกุลเงินดิจิทัลอาจถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีและวัตถุ ประสงค์ที่ต่างกัน

 

ลักษณะเช่นนี้ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายได้ว่าเป็นการแห่เข้าไปซื้อ (Herding Behavior) ซึ่งพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะขาขึ้นเพียงอย่างเดียว อาจเกิดการวิ่งแห่ซื้อตามกันหรือตระหนกตกใจเทขายพร้อมกันก็เป็นได้ โดย Herding Behavior นี้ได้ส่งผลไปยังสกุลเงินดิจิทัลอื่นด้วย หากดูราคา Ethereum, Stellar, Litecoin สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้เคยมีประวัติวิ่งขึ้นในช่วงปลายปี 2017 พร้อม บิตคอยน์และร่วงลงมาพร้อมกัน ในปี 2018 ดังนั้นการเข้าไปซื้อ Cryptocurrencies จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและไม่แนะนำสำหรับการลงทุนระยะยาว เพราะมีความผันผวนสูง ผู้ซื้อควรตระหนักว่าเงินที่ลงทุนอาจสูญไปทั้งหมดได้ในพริบตา ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาแทบจะไม่มีปัจจัยพื้นฐาน สำหรับตอนนี้ หากต้องคาดการณ์ราคาในอนาคตผลลัพธ์จะคล้ายกับการพนันมากกว่าพฤติกรรมแห่ซื้อ ดันราคาบิตคอยน์พุ่ง 

 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,646 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Bitkub ประกาศปิดรับลูกค้าใหม่ชั่วคราว

Bitkub เตรียมแถลงเหตุปิดปรับปรุงระบบ

เตือนนักขุด ราคาบิตคอยน์ที่พุ่งแรงอาจย่อตัวลงมาในเร็วๆนี้

บิตคอยน์ร้อนแรง ราคาพุ่งทำนิวไฮทะลุ 20,000 ดอลลาร์

จับตาเทรนด์นักลงทุนสถาบันสำรองบิตคอยน์แทนเงินดอลลาร์