6 แบงก์กำไรลดฮวบ 1 หมื่นล้าน

24 ม.ค. 2564 | 02:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2564 | 02:22 น.

6 แบงก์ประกาศกำไรปี 63 ลด 10,308 ล้านบาท ทีเอ็มบีชี้ ส่วนใหญ่รายได้ดอกเบี้ยและรายได้อื่นๆยังเป็นบวก จับตาภาระกันสำรองเพิ่มต่อเนื่อง หลังสัดส่วนเงินสำรองแต่ละธนาคารเพิ่มกว่า 30%

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะต้องรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และน่าจะเป็นกลุ่มที่ถูกจับตามากที่สุด เพราะในรอบปี 2563 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนทั่วไปด้วยการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่นั่นหมายถึงรายได้ของธนาคารพาณิชย์จะหายไปเช่นเดียวกัน 

 

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ประกาศผลประกอบการเบื้องต้น 6 คือ ธนาคาร กสิกรไทย ทหารไทย ทิสโก้ เกียรตินาคินภัทร  แอลเอชเอฟจีและซีไอเอ็มบีไทย พบว่า มีกำไรสุทธิรวม  54,132 ล้านบาท ลดลง 10,308 ล้านบาทหรือ 15.99% เมื่อเทียบกับปี 2562

 

โดยธนาคาร ทหารไทยหรือ ทีเอ็มบี มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 40.01% หลักๆมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 53,805 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 100.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 26,865ล้านบาท ขณะที่รายได้มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่ม 18.1% อยู่ที่ 14,986 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 12,956 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 30.6% อยู่ที่ 10,575 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์แอสชัวรันส์จากธุรกิจเช่าซื้อ 

 

ส่วนที่เหลืออีก 5 แห่งกำไรสุทธิลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เช่น กสิกรไทย กำไรลดลง 9,240 ล้านบาทหรือ 23.85% หลักๆมาจากรายได้มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 20.65% จาก 57,803 ล้านบาทเหลือ 45,865 ล้านบาท  ขณะที่รายได้จากการรับประกันภัยหายไป 166.1% และรายได้อื่นๆหายไป 37.34 % และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการหายไป 10.17% จาก 36,740 ล้านบาท เหลือ 33,004 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.17% จาก 102,688 ล้านบาท เป็น 109,022 ล้านบาท จากเงินให้สินเชื่อ 2.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.13% 

6 แบงก์กำไรลดฮวบ 1 หมื่นล้าน

 

ขณะที่ซีไอเอ็มบีไทย กำไรสุทธิลดลง 36.07% จาก 2,018 ล้านบาทเหลือ 1,290 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม 60% โดยจำนวนนี้ธนาคารได้คำนึงถึงการคาดการณ์ล่วงหน้าของโมเดลการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิต(ECL) เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโอกาสที่คุณภาพสินเชื่อจะแย่ลงจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดโควิด ทั้งนี้ ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 1.49 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้น 167.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน 

 

ส่วน ทิสโก้ มีกำไรสุทธิ 6,063 ล้านบาทลดลง 16.60% จาก 7,270 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 13,097.71 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 2.4% จากการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ บวกรายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจตลาดทุนเพิ่ม 12.8% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ลดลง 3.7% สาเหตุจากลูกหนี้รายหนึ่งกลับมาชำระหนี้ได้ ธนาคารเกียรตินาคิน ภัทร มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม 19.2% เป็น 14,679ล้านบาท

 

สอดคล้องเงินให้สินเชื่อปรับเพิ่ม 13.7% มูลค่า 31,168 ล้านบาท ส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและรายการขาดทุนจากการขายรถยึดอัตรา 2.55% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.36%ในปี 2562 ส่วนแอลเอชเอฟจี มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม 4.4% จากเงินสินเชื่อเพิ่ม 2.7% เงินฝากเพิ่ม10.6%

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารTMB Analytics เปิดเผยว่า ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาในรอบปี 2563 พบว่า กำไรก่อนหักเงินสำรองไม่ได้แย่ อาจจะปรับลดลงบ้างจากค่าธรรมเนียมที่ลดลง แต่รายได้อื่นและรายได้ดอกเบี้ยยังเป็นบวก รวมถึงทิศทางรายได้ค่าธรรมเนียมปีนี้มีแนวโน้มจะดีกว่าปีก่อน แม้ตลาดจะผันผวนและการส่งออกมีสัญญาณที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมจากปริวรรตเงินตรา ดังนั้นภาพรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารจะดีกว่าปีก่อน แต่ช่วงที่เหลือต้องจับตา ภาระตั้งสำรองในระยะข้างหน้าด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักที่มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของระบบธนาคารคือ ภาระการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ จากเดิมช่วงก่อนโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์จะกันสำรองไม่ถึง 30% ของกำไรก่อนหักสำรอง โดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ด้อยลง ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มคุณภาพลูกหนี้รายย่อยออกมาดีกว่าสินเชื่อเอสเอ็มอี เห็นได้จากโปรแกรมพักชำระหนี้รายย่อยสามารถกลับมาชำระปกติได้มาก

 

“การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก ที่มีการล็อคดาวน์เข้มงวด แต่มองไปข้างหน้าภาระตั้งสำรองยังมีต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย เศรษฐกิจยังมีความผันผวน จึงยังไม่สามารถระบุได้ผลกระทบต่อระบบแบงก์ในไตรมาสแรกปีนี้จะเป็นอย่างไร แต่แนวโน้มอาจใช้เวลากว่าจะเห็นผลกระทบต่อสถานะของเอสเอ็มอี อาจจะไตรมาส 3 หรือกลางปี

 

ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลกลางปีน่าจะอยู่ที่ 3.7% ไม่น่าจะเพิ่มถึง 4% เพราะส่วนใหญ่แบงก์เร่งช่วยลูกหนี้ทั้งพักหนี้และประคองกันอยู่ภายใต้การบริหาร ขณะเดียวกันเชื่อว่า ระบบแบงก์จะไม่ปล่อยเอ็นพีแอลออกมามาก เนื่องจากการดูดซับหรือความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระบบอาจไม่เพียงพอ หรืออาจจะถูกกดราคา” นายนริศกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แบงก์ไทยปี 2564 หลังปิดปี 2563 เงินสำรองเพิ่มกว่า 40.56%

3แบงก์ใหญ่ตั้งการ์ดสำรองสูง กดดันกำไรสุทธิปี2563

 

ที่มา: หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564