ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสัดส่วนเอ็นพีแอลปี2564ขยับขึ้นแตะ 3.53%

27 ม.ค. 2564 | 09:32 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ปัญหาคุณภาพหนี้ ยังเป็นความเสี่ยงหลักของสถาบันการเงินในปี 2564 อาจจะทยอยขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 3.53%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ปัญหาคุณภาพหนี้ ยังเป็นความเสี่ยงหลักของสถาบันการเงินในปี 2564 อาจจะทยอยขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 3.53%

·        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของระบบธนาคารพาณิชย์น่าจะปิดสิ้นปี 2563 ที่ยอดรวมประมาณ 5.23 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.16% ของสินเชื่อรวม สำหรับในปี 2564  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า NPLs ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กลับต้องมาเผชิญกับผลกระทบอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ แต่เนื่องจากการผ่อนปรนในเรื่องของเกณฑ์การจัดชั้นหนี้หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ รวมถึงการจัดการในเชิงรุกในการดูแลปัญหาหนี้เสียและการตัดหนี้สูญของระบบธนาคารพาณิชย์ ทำให้คาดการณ์ในเบื้องต้นว่า สัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของระบบธพ. ในปี 2564 อาจจะทยอยขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 3.53%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสัดส่วนเอ็นพีแอลปี2564ขยับขึ้นแตะ 3.53%

 

·        จุดจับตาของสัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพในปีนี้จะอยู่ที่ 2 เรื่อง คือ 1. ยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ ของสถาบันการเงินที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสที่1/2564  และ 2. ปัญหา NPLs ในปีนี้มีโอกาสกระจายตัวออกไปในหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้น หลังจากในปีที่แล้ว แรงกดดันหลักๆ จะอยู่กับธุรกิจขนส่ง โดยเฉพาะขนส่งทางอากาศ และธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท  โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติมในปีนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ขายส่ง/ขายปลีก SMEs ภาคการผลิตทั้งที่รับช่วงผลิตต่อ/พึ่งพาตลาดส่งออก/อิงกับกำลังซื้อในประเทศ รวมไปถึงธุรกิจให้เช่าอาคารอพาร์ทเม้นท์ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์และที่อยู่อาศัยอื่นๆ เพื่อเช่า

 

·        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การดูแลคุณภาพหนี้ในพอร์ตจะยังคงเป็นโจทย์สำคัญต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2564 และอาจข้ามไปในปี 2565 เพราะจะมีหนี้บางส่วนที่ต้องกลับมาจ่ายคืนตามเงื่อนไขปกติ นอกจากนี้ คงต้องรอจังหวะให้เศรษฐกิจปรับตัวกลับสู่ระดับปกติก่อนที่สัญญาณจากความเสี่ยงหนี้ตกชั้น หรือสัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพจะลดระดับลง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ธปท. อาจต้องกลับมาประเมินความจำเป็นของการขยายเวลาผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ให้กับสถาบันการเงิน รวมถึงการเว้นการกันเงินสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นปี 2564 หากสถาบันการเงินยังต้องใช้เวลาในการจัดการปัญหาหนี้เสีย อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง และธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยเตรียมความพร้อมเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระดับเงินกองทุนและเงินสำรองฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในปีนี้