คลังเล็งปรับโครงสร้างภาษียาสูบเหลืออัตราเดียว

19 ก.พ. 2564 | 12:30 น.

กระทรวงการคลังเตรียมปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเหลืออัตราเดียว

นายกิตติทัศน์ ผาทอง ตัวแทนภาคีเครือข่ายยาสูบแห่งประเทศไทยเปิดเผยภายหลังจากเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) ซึ่งที่ประชุมได้เชิญนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตัวแทนจากกรมสรรพสามิตและการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.)เข้าร่วมด้วยว่า กระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิตยอมรับว่าโครงสร้างภาษีปัจจุบันที่มี 2 อัตรา ทำให้เกิดปัญหา และยืนยันว่ากำลังแก้ไขโครงสร้างภาษีใหม่ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้ ส่วนเรื่องเงินชดเชยที่ทวงถามมาตั้งแต่ต้นปี 63 รัฐมนตรีรับปากว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และจะให้เข้าไปร่วมให้ข้อมูลเรื่องการปลูกพืชทดแทนด้วย

“ขอเป็นตัวแทนชาวไร่เกือบ 30,000 ครอบครัว ขอบคุณที่เข้าใจความเดือดร้อนและเข้ามาดูแลจัดการปัญหาความล่าช้าในการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวไร่ยาสูบ และแก้โครงสร้างภาษีใหม่ไม่ให้ชาวไร่เดือดร้อน”

กิตติทัศน์ ผาทอง

ด้านนายประเสริฐ สงวนทรัพย์ ตัวแทนชาวไร่ยาสูบจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เข้าร่วมประชุมหลายท่านซึ่งก็มาจากพื้นที่ที่มีการปลูกยาสูบ ก็ช่วยกันให้ข้อมูลว่าจุดเริ่มต้นของปัญหามาจากอัตราภาษีบุหรี่ 20% และ 40% ที่ทำให้การยาสูบฯ แข่งขันในตลาดไม่ได้ และอยากให้สรรพสามิตยกเลิกภาษี 40% ไปเลย มีท่าน ส.ส. บางท่านถามถึงที่มาของโครงสร้างภาษีปัจจุบันว่าทำไมต้องมีสองอัตราเพราะทำให้การยาสูบฯ แข่งขันสู้บุหรี่นอกไม่ได้ แต่กรมสรรพสามิตก็ให้คำตอบไม่ได้

            “ที่ประชุมในวันนั้นต่างก็มีความเห็นตรงกันว่าต้องมีการปรับภาษีให้เหลืออัตราเดียวและไม่ขึ้นภาษีมากเกินไป เพราะจะช่วยให้รัฐบาลเก็บภาษีได้มากกว่า และน่าจะช่วยให้การยาสูบฯ และชาวไร่อยู่ได้ ไม่ต้องเจอกับผลกระทบของการขึ้นภาษีเหมือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) มี ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ. วิสามัญเพื่อมาแก้ปัญหาภาษียาสูบและชาวไร่ยาสูบที่เดือดร้อน  โดยนางสาวณธีภัสร์  กุลเศรษฐสิทธิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงข้อเสียของการใช้นโยบายอัตราภาษีตามมูลค่า 2 ขั้นคือ

อัตรา 20% สำหรับบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 60 บาทต่อซอง กับอัตรา 40%  สำหรับบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกเกินกว่า 60 บาทต่อซอง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล และยังทำให้บุหรี่นำเข้าเลือกใช้วิธีลดราคาลงมาแข่งกับกับบุหรี่ของ ยสท.ที่ราคา 60 บาทต่อซอง จน ยสท. ต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด และส่งผลกระทบต่อโควตารับซื้อใบยาของชาวไร่ยาสูบตามมา

อย่างไรก็ดี นางสาวณธีภัสร์ ยังได้เรียกร้องให้รัฐสภาจะต้องเข้าไปมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติ เพื่อให้ปรับโครงสร้างภาษียาสูบอย่างไรให้มีความเหมาะสม โดยมีแผนดำเนินงานระยะยาวในการใช้นโยบายภาษีโดยขึ้นอัตราภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไปถึงภาษีอัตราเดียวในที่สุดซึ่งเป็นไปตามหลักสากล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :