หนึ่งในความพยายามเตรียมแผนรองรับการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ในระบบสถาบันการเงิน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ การจัดตั้งโกดังเก็บหนี้ หรือ Asset Warehuosing หลังจากเห็นสัญญาณหนี้ใน Stage2 เพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัวจากระดับ 2.79% ในปี 2562 เป็น 6.62% ในปี 2563 แม้ว่าระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)จะเพิ่มขึ้นไม่มากจาก 2.98% เป็น 3.12%
ล่าสุดมีความคืบหน้าที่จะมีการแก้ไขร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) เพื่อดึงวงเงินที่เหลือประมาณ 3 แสนล้านบาทมาทำร่างพ.ร.ก.ซอฟต์โลนฉบับใหม่ อายุ 2 ปี มาใช้ใน 2 ส่วนคือ 1. เป็นวงเงินซอฟต์โลน อัตราดอกเบี้ยราว 4% ไม่เกินอัตรา 5% ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ส่วนที่2 ให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อมาทำหน้าที่เป็น Asset Warehousing ในการตีโอนทรัพย์ชําระหนี้ ซึ่่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดสรรวงเงิน
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องเจรจากับลูกหนี้ว่า ใครต้องการซอฟต์โลน หรือ ใครต้องการหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งธนาคารเจ้าหนี้ จะทำหน้าที่เป็น Warehousing เพื่อรับตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ ส่วนวงเงินรองรับต้องไม่เกิน 1 แสนล้านบาท โดยไม่จำกัดจำนวนราย แต่ในหลักการแวร์ เฮ้าส์ซิ่ง ลูกหนี้รายที่จะตีโอนทรัพย์ได้ต้องมีทรัพย์หลักประกันคุ้มมูลหนี้ ไม่ใช่ทุกรายที่จะทำแวร์เฮ้าส์ซิ่ง และคาดว่ากว่าจะจัดทำร่างพ.ร.ก.ซอฟต์โลน น่าจะเริ่มใช้ในครึ่งแรกปีนี้
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.กล่าวว่า ธปท.กับกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด เพื่อเร่งปรับปรุงร่างแก้ไขพ.ร.ก.ให้สามารถออกได้ในเร็ววัน ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลเท่าที่ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่คิดว่าจะเห็นตัวเลขผิดนัดชำระมาก แต่ยอมรับว่า ปัญหาเอ็นพีแอลมีหลากหลายประเภท อาจทยอยเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่ช่วยเหลือไม่ได้ แต่ธนาคารพาณิชย์ยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และสามารถบริหารจัดการได้ โดยธปท.เป็นห่วงลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 500 ล้านบาทที่มีสายป่านสั้น และมีสัดส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มจาก 6.22% เป็น 6.84%
สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้รายได้ลดลงมาก ประกอบด้วย คอนโด ที่พักแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว ขนส่งผู้โดยสารสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม พื้นที่ค้าปลีกการค้า ภัตตาคาร ก่อสร้างอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ชิ้นส่วนยานยนต์ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมีนัยยะสำคัญคือ ท่องเที่ยวและกลุ่มเกี่ยวเรื่องกับท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อกลุ่มโรงแรมประมาณ 4 แสนล้านบาท
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการโรงแรมไทยกล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องการได้ตัวเลขโรงแรมที่มีความสนใจในเรื่องแวร์เฮ้าส์ซิ่ง ซึ่งทางสมาคมโรงแรมไทย(THA)ได้สอบถามไปยังสมาชิกของสมาคมกว่า 900 โรงแรมพบว่า มีโรงแรมให้ความสนใจจะเข้าร่วมโครงการประมาณ 140 ราย มูลหนี้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงื่อนไขแวร์เฮ้าส์ซิ่งคือ การแช่แข็งสินทรัพย์เป็นเวลา 3-5 ปี โดยลูกหนี้ที่ตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ให้ธนาคารพาณิชย์เพื่อยุติการเป็นหนี้ หยุดภาระเงินต้นทางการเงินและดอกเบี้ย ซึ่งลูกหนี้โอนทรัพย์พร้อมสิทธิความเป็นเจ้าของให้กับธนาคาร โดยที่ลูกหนี้มีสิทธิในการซื้อคืนสินทรัพย์คืนจากธนาคารเป็นรายแรก ภายในระยะเวลา 3-5 ปีโดยธนาคารจะพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ นอกจากนี้ลูกหนี้จะได้รับยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียม
ที่เกี่ยวข้องกับการตีโอนทรัพย์เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ระหว่าง 3-5 ปีนั้น ทางธนาคารจะคิดค่าใช้จ่ายในการถือครองสินทรัพย์ในราคาต่ำประมาณ 2% เพื่อบำรุงรักษาโรงแรม และลูกหนี้สามารถทำสัญญาเช่าดำเนินกิจการได้โดยเสียค่าเช่าในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนการะหนี้ในปัจจุบัน เช่น ให้เจ้าของโรงแรมเช่าเพื่อดำเนินกิจการต่อในอัตราค่าเช่า 2-3% เพื่อไม่ให้เกิดหนี้เสีย พร้อมกำหนดให้เจ้าของโรงแรมเป็นคนกลับมาซื้อคืนโดยไม่สามารถเปลี่ยนมือ แต่ถ้าไม่ซื้อคืนก็เป็นเรื่องของธนาคารจะนำไปขายต่อหรือดำเนินการอย่างไร
สำหรับความคืบหน้า ซอฟต์โลน ของธปท. ณ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มีสินเชื่ออนุมัติแล้ว 125,77 7 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 74,702 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัย 83,410ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 49,922 ราย ประกอบด้วยธุรกิจคอนโด ที่พักแรม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว ขนส่งผู้โดยสาร สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม พื้นที่ค้าปลีก การค้า ภัตตาคาร ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และธุรกิจอื่นๆ อีก 42,367 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 24,780 ราย
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564