สรรพสามิต ทบทวนขึ้นภาษีความหวาน

26 ก.พ. 2564 | 09:18 น.

กรมสรรพสามิต ทบทวนการปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน พร้อมเลื่อนการจัดเก็บภาษีความเค็ม เพื่อลดภาระผู้ประกอบการและผู้บริโภค

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการชะลอปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 เนื่องจาก ในวันที่ 1 ต.ค.64 จะครบกำหนดเวลาที่ต้องมีการปรับขึ้นภาษีตามขั้นบันได จากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 ซึ่งจะเป็นการลดภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค 

โดยที่ผ่านมาภาษีเครื่องดื่มที่มีสารความหวาน ได้กำหนดอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 4 ระยะ ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตราระยะที่ 2  โดย 1 ต.ค.64 จะปรับขึ้นเป็นระยะที่ 3 ซึ่งจะมีการคิดอัตราภาษีก้าวกระโดดขึ้นมาก แบ่งเป็น ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 0.10 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 0.30 บาท/ลิตร, ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 0.30 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 1 บาท/ลิตร, ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 1 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 3 บาท/ลิตร, ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม เดิมคิดอัตราภาษี 3 บาท/ลิตร ปรับขึ้น 5 บาท/ลิตร เป็นต้น

 

“ช่วงนี้ประสบปัญหาโควิด-19 ขึ้นมา กรมจะมีการทบทวนดูว่าจะมีการชะลอขึ้นภาษีออกไปหรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้กรมจะต้องมีการนำข้อมูลมาพิจารณารายละเอียดดูความเหมาะสมอีกครั้ง ยังไม่ได้มีการยืนยันว่าจะมีการเลื่อนออกไประยะเวลาเท่าไหร่ และจำนวนมากน้อยแค่ไหนบ้าง” อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว

นายลวรณกล่าวว่า ในการพิจารณาภาษีสรรพสามิตในปีนี้ จะไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มเติม และจะยังไม่มีภาษีใหม่ๆ ออกมา เช่น ภาษีความเค็ม เป็นต้น เนื่องจากมองว่าช่วงเวลานี้ยังไม่เหมาะสม อาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการด้วย ดังนั้นในปีนี้ จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ให้ได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดลง เหลือ 5.5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายเดิมตามเอกสารงบประมาณ ต้องจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งกรมฯจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้พัฒนาระบบต่างๆ ในกรม รวมถึงการตรวจสอบการคืนภาษีน้ำมันตามการยกเว้นภาษีครั้งนี้จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเก็บเอกสารให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ว่าน้ำมันได้ถูกส่งออกจริงเพื่อขอคืนภาษีหรือไม่ ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในเดือน มี.ค.64

ส่วนการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดูรายละเอียด จะเห็นความชัดเจนในเดือน มี.ค.64 โดยจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. รายได้เกษตรกร 2. สุขภาพของประชาชน 3. บุหรี่เถื่อน และ 4. รายได้ของกรม  โดยจะเป็นการปรับถาวร จะไม่ให้เป็นการเลื่อนชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมา