นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อยู่ระหว่างการออกแบบมาตรการ “คนละครึ่ง เฟส 3” เนื่องจากมาตรการดังกล่าวถือเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกภาคส่วนจริง โดยเฉพาะระดับฐานราก ซึ่งพบว่ามีร้านขายสินค้าขนาดเล็ก และหากรวมภาคบริการด้วยจะมีมากกว่า 2 ล้านรายที่ได้ประโยชน์ และยังถือเป็นการช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจเพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายจากภาคประชาชน
อย่างไรก็ตามมาตรการ “คนละครึ่งเฟส3” จะใช้หลักการใกล้เคียงกับมาตรการในเฟส 2 ที่จะครบอายุมาตรการวันที่ 31 มีนาคมนี้ แต่จะมีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นรวมทั้งเปิดให้ภาคบริการได้เข้าร่วมโครงการด้วย ส่วนจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 15 ล้านคน หรือจะขยายจำนวนถึง 30 ล้านคนเท่ากับโครงการเราชนะหรือไม่นั้น ต้องรอดูเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ก่อนว่าเพียงพอหรือไม่
“รูปแบบการรับสิทธิ์ และวงเงินที่จะได้รับ ยังต้องดูนโยบายและงบประมาณที่จะใช้ แต่อยากให้ทุกคนที่ต้องการได้รับทั้งหมด แต่ยังต้องมาพิจาณาในหลายองค์ประกอบก่อน” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ในส่วนของงบเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใช้เต็มวงเงินแล้ว 5.5 แสนล้านบาท โดยอาจจะพิจารณาใช้วงเงินจากงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 2 แสนล้านบาท ส่วนงบที่ใช้สำหรับสาธารณะสุข ขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว กว่า 1,500 ล้านบาท จากวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนกรณีที่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุถึงการปรับลดภาษีนิติบุคคล เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาตินั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากมองในมุมการแข่งขัน ก็เชื่อว่าช่วยได้ ทั้งนี้ปัจจุบันไทยกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ที่เพดาน 20% โดยรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาท จะยกเว้นอัตราภาษีให้ ส่วนรายได้เกิน 3 แสนบาทขึ้นไป จะคิดอัตราภาษี 15% และสูงสุดที่ 20% อย่างไรก็ดี จะต้องไปพิจารณากับประเทศเพื่อนบ้านด้วยว่าอยู่ที่ระดับเท่าไหร่ พร้อมกล่าวด้วยว่า การลดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลลง จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ดังนั้นการเสนอมาตรการอะไรออกไป จะต้องเสนอเป็นแพ็กเกจ ซึ่งหากออกโครงการใดมาแล้ว ก็จะต้องมีโครงการที่มาทดแทนรายได้ เพื่อความสมดุลด้วย