แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและเกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการจัดตั้ง โกดังเก็บหนี้ หรือ Asset Warehousing มีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีข้อสรุปจากการหารือระหว่างธนาคารสมาชิกที่นำส่งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะกำหนดราคารับซื้อหรือการโอนทรัพย์ชำระหนี้เข้ามาใน “โกดังเก็บหนี้” นั้น กำหนดราคาตั้งต้นไว้ไม่เกิน 80% ของมูลค่าหลักประกัน แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะได้รับโอนทรัพย์ในราคาดังกล่าว เพราะในหลักการต้องพิจารณาว่า ทรัพย์สินมีสภาพคล่องหรือมีอนาคตมากน้อยเพียงไร ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องหารือกัน
ดังนั้นราคารับซื้อทรัพย์อาจจะอยู่ที่ 70% 80% หรือ 90% ขึ้นกับคุณภาพของทรัพย์หลักประกัน เช่น ถ้าลูกหนี้มียอดหนี้คงค้างที่ 90 ล้านบาท มูลค่าหลักประกันที่ 100 ล้านบาท ราคาซื้อคือ 80% ของมูลหนี้ 90 ล้านบาท ซึ่งจะเท่ากับ 72 ล้านบาท โดยไม่ได้คิดบนราคาประเมิน
“สภาพคล่องของทรัพย์หลักประกัน มีส่วนในการกำหนดราคา แต่กรณีนี้เป็นการช่วยลูกหนี้ปิดหนี้ชั่วคราว และให้สิทธิ์กลับมาซื้อคืนเมื่อลูกหนี้พร้อม ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์ราคาที่ 80% ของมูลค่าหลักประกันทุกรายเท่ากันแบงก์จะกระทบมากเพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นยังใช้เวลา ดังนั้นต้องดูสมการคำนวณให้สมเหตุสมผล” แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินระบุ
อย่างไรก็ตาม ราคาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่กู้เงิน จะใช้ธุรกิจและทรัพย์หลักประกันเป็นหลักประกัน หากธุรกิจไปต่อไม่ได้ ก็ต้องดูว่า หลักทรัพย์คํ้าประกันที่เคยประเมินราคาไว้คือ การปล่อยกู้ ธนาคารจะดูรายได้จากธุรกิจประมาณ 30% ที่เหลือดูหลักทรัพย์คํ้าประกัน ซึ่งหลักการขายฝากรับ จะไม่มองธุรกิจ แต่จะมองหลักทรัพย์คํ้าประกันเป็นหลัก ถ้าหลักทรัพย์เท่าไร ก็จะจ่ายแค่ ครึ่งเดียว เช่น กู้เงินไป 100% ประเมินจากรายได้ธุรกิจ 30% ตัวอาคารอีก 20% และที่ดินอีก 50% การรับซื้อหนี้ จะซื้อหนี้ในราคา 25% จากราคาที่ดินหลักประกันที่ 50% แต่ในทางปฎิบัติธนาคารเจ้าหนี้และลูกหนี้จะเจรจาขอเพิ่มราคา แต่บางธนาคารรับโอนทรัพย์ได้ที่ 60%
ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของธปท.ที่จะประสานกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพิจารณาผลกระทบ และวิธีการที่จะนำมาใช้แก้ไขผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ โดยกระบวนการพิจารณาผลกระทบและวิธีการเกี่ยวกับโครงการโกดังเก็บหนี้ และกระบวนการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า หรือซอฟต์โลน ฉบับใหม่ โดยได้กำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ทันเวลาเข้าไปรองรับลูกหนี้ที่มาตรการช่วยเหลือจะหมดลงในเดือนมิถุนายน 2564
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมไทยกล่าวว่า “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า หลังจากสมาคมโรงแรม (THA) ขยายเวลาสำรวจสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “โกดังเก็บหนี้” ครบ 7 วัน พบว่า มีโรงแรมแสดงความสนใจทั้งสิ้น 198 โรงแรม มีหนี้รวม 3.21 หมื่นล้านบาท มูลค่าสินทรัพย์ราว 8.24 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวมากสุด คิดเป็นสัดส่วน 40% ตามมาด้วยโรงแรมระดับ 4 ดาว คิดเป็นสัดส่วน 30% โรงแรมระดับ 5 ดาว คิดเป็นสัดส่วน 17% ที่เหลือจะเป็นโรงแรมระดับ 1-2 ดาว โดยที่ 79.63% สนในจะเช่าโรงแรมต่อจากธนาคารหลังเข้าร่วมโกดังเก็บหนี้แล้ว
“ผู้ประกอบการโรงแรม อยากให้ธุรกิจสามารถซื้อโรงแรมคืนในราคาเดียวกับที่ทางสถาบันการเงินซื้อหนี้โรงแรมไป แต่อาจมีค่าดำเนินการเพิ่มนิดหน่อย เพื่อให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ เพราะที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลาดในประเทศมีไม่เพียงพอ บางรายเปิดๆปิดๆ โดยเปิดเฉพาะวันหยุดยาว” แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,660 วันที่ 11 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2564คี