คุณภาพหนี้ของสถาบันการเงิน ยังเป็นปัจจัยที่น่ากังวล จากแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่จากการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ รวมถึงการจัดการในเชิงรุกในการดูแลปัญหาหนี้เสียและการตัดหนี้สูญของระบบธนาคารพาณิชย์ ทำให้คาดการณ์เบื้องต้นว่า เอ็นพีแอลปี 2564 ของระบบธนาคารพาณิชย์จะทยอยขยับขึ้นไปที่ระดับประมาณ 3.53%
อย่างไรก็ตามช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผล
กระทบจากโควิด-19 ในส่วนของลูกหนี้ใหม่ ที่ค้างไม่เกิน 2 งวด จะได้รับการพักชำระหนี้จากสถาบันการเงิน แต่หนี้ค้างเกิน 90 วัน ส่วนใหญ่ธนาคารพาณิชย์ต้องการขายหนี้ออกไปทำให้รอบปีที่ผ่านมา ธนาคารยังคงกระจายงานหรือลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลไปยังบริษัทติดตามทวงถามหนี้ โดยมีปริมาณหนี้ค้างเกิน 180 วันเพิ่มขึ้น ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่สินเชื่อเช่าซื้อจะเข้าเงื่อนไขพักชำระหนี้ ดังนั้นปริมาณงานติดตามทวงถามจะหายไปค่อนข้างมาก
แหล่งข่าวจากบริษัททวงถามหนี้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การว่าจ้างบริษัทภายนอกหรือ Outsource ในการติดตามทวงถามหนี้ ในระบบธนาคารจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นตามความยากง่ายของคุณภาพหนี้ โดยมีตั้งแต่ 15-50% ถ้าอายุหนี้ที่ผิดนัดชำระใหม่ จะคิดค่าคอมมิชชั่นปกติ แต่ถ้าลูกหนี้ติดต่อยากหรือลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะเพิ่มคอมมิชชั่น เช่น หนี้อายุเกิน 2 ปีไม่เคยมีการชำระเลยค่าคอมมิชชั่นจะตก 20-30% แต่ถ้าเรียกเก็บไม่ได้ต่อไป จะเพิ่มเป็น 40% เพราะคุณภาพหนี้ที่ตกผลึกนาน คนรับจ้างมีต้นทุนในการติดตาม หรือเสียเงิน แต่ตามหนี้ไม่ได้เลย
“ระหว่างที่ธปท.ให้เวลาพักหนี้ แต่ธนาคารส่วนใหญ่ยังจ่ายงานประเภทสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้านให้บริษัททวงถามติดตามและยึดเป็นปกติ ในส่วนของเช่าซื้อ กรณีค้างเกิน 3 งวดจะจ่ายค่าคอมมิชชั่น 400-500 บาทต่องวดต่อราย และถ้าเป็นพื้นที่ติดต่อยาก บางค่ายจะบวกค่าใช้จ่ายอีก 500 บาทรวมเป็น 1,000 บาทต่อราย ซึ่งอัตรานี้ยังสอดคล้องค่าใช้จ่าย เพราะชดเชยกับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น บางบริษัทได้รับงานจำนวนมาก ปัจจุบันมีบริษัทติดตามทวงถาม สายเช่าซื้อกว่า 400 บริษัท แต่ในสมาคมการค้า จะมีีสมาชิก 50 บริษัทเป็นพวกสินเชื่อไม่มีหลักประกัน”แหล่งข่าวกล่าว
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท
เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด(มหาชน)หรือ JMT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทอยู่ระหว่างดีลซื้อหนี้ ซึ่งน่าจะปิดได้ประมาณปลายเดือนมีนาคม มูลค่าที่สถาบันการเงินนำออกมาประมูลไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ส่วนทั้งปีน่า ยังต้องรอดูว่า ครึ่งปีหลังหมดมาตรการ ทั้งลูกหนี้และสถาบันการเงินปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวมองว่า น่าจะมีเอ็นพีแอลลออกมาประมูลมากกว่าครึ่งปีแรก โดยปีนี้ได้เตรียมงบประมาณไว้ 6,000 ล้านบาท สำหรับรับซื้อเอ็นพีแอล จากปีก่อนที่ใช้งบไปกว่า 3,000 ล้านบาท มีพอร์ตรวมที่ 2.07 แสนล้านบาท ลูกหนี้ 4 ล้านบัญชี
สำหรับทิศทางผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ากำไรเติบโต 30% จากปีก่อนที่กำไรเติบโต 53% มูลค่ากว่า 1,047 ล้านบาท หลักๆ มาจากพอร์ตที่รับซื้อเอ็นพีแอล ส่วนพอร์ตรับจ้างบริหารอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคุณภาพทรัพย์ที่รับเข้ามาตั้งแต่ 5 วันที่ผิดนัดชำระไปจนถึง 1 ปี ในแง่การบริหารหนี้พอร์ตที่รับซื้อนั้น ปัจจุบันยังมีการช่วยเหลือลูกค้าพักชำระหนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับสถานประกอบการท่องเที่ยว เนื่องจากไม่ได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน แต่ไม่เกิน 10% ของพอร์ต
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย หรือ CHAYO กล่าวว่า บริษัทยังไม่กล้ารับซื้อเอ็นพีแอลในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนหนึ่งยังรอทิศทางธปท.จะมีนโยบายในการบริหารจัดการลูกหนี้อย่างไร แต่ยังคงเดินหน้าเรียกเก็บหนี้ตามปกติ โดยมีลูกค้าประมาณ 10% ที่เคยผ่อนชำระ ได้รับผลกระทบจากธุรกิจหรือกิจการลดเงินเดือนหรือเลิกจ้าง ซึ่งลูกหนี้บางรายต้องปรับโครงสร้างหนี้กันใหม่ เนื่อง จากไม่สามารถชำระหนืได้ตามแผนปรับโครงสร้างก่อนหน้า
ยกตัวอย่างลูกหนี้ที่เคยชำระ 8,000-10,000ต่อเดือน ยืดหนี้เป็น 6 เดือน ช่วงนี้ขอลดวงเงินเหลือ 3,000 บาท ขอต่อเวลาเป็น 3-6 เดือนรวมของเดิมเป็น 1 ปี ซึ่งแทบจะไม่คิดดอกเบี้ย แต่ส่วนลดหนี้จะเหลือ 30% ซึ่งเป็นลูกหนี้ครอบคลุมทุกประเภท (สินเชื่อบ้าน รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ บัตรเครดิต
สินเชื่อส่วนบุคคล) รวม 2,000 ราย วงเงิน 20 ล้านบาทต่อเดือน จากพอร์ตรวม 65,000 ล้านบาทจากสิ้นปีก่อน 63,500 ล้านบาท ซึ่งไตรมาสแรกซื้อเข้ามา 2 ธนาคารพาณิชย์ ทั้งปีนี้ตั้งเป้าซื้อเอ็นพีแอล 10,000 ล้านบาท โดยปีนี้ยังคงเป้ากำไรโต 25% หรือกว่า 600 ล้านบาท ่จากกำไรปีก่อนโต 30%
“ปีนี้สถาบันการเงินยังฟ้องลูกหนี้ เพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมาย เพราะลูกหนี้บางรายไม่ให้ความร่วมมือด้วย โดยมองว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลยังทยอยเพิ่มจนกว่าเศรษฐกิจและภาคธุรกิจจะกลับมาอย่างจริงจัง อาจจะปี 65 ซึ่งมีโอกาสจะปรับเพิ่มเป็น 4% ประมาณ 6 แสนล้านบาท” นายสุขสันต์กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564