ความท้าทายของ Bitcoin และเงินคริปโตสู่การยอมรับ ในโลกการเงินยุคใหม่

26 มี.ค. 2564 | 01:40 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2564 | 08:42 น.

แม้ว่าวันนี้ “Cryptocurrency” ได้สร้างพื้นที่ของตัวเองจนใกล้เคียงความเป็น Mass Adoption เราเห็นปริมาณการซื้อขายและลงทุนในตลาด Cryptocurrency  ทั้งจากนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่และรายย่อย ที่เพิ่มสูงขึ้นจนปัจจุบันมีมูลค่าถึงกว่า 1,723 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Bitcoin ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ 60% หรือกว่า 1,110 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศอินโดนีเซีย เราได้เห็นการระดมทุนที่ใหญ่ที่สุดและเร็วที่สุดในโลกการลงทุน

เราได้เห็นบริษัทในตลาดทุน Nasdaq และ NYSE ซึ่งขณะนี้ถือ Bitcoin รวมกันมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ($ 60 Billions) หรือประมาณ 6% ของมูลค่าทั้งตลาด Bitcoin เช่น บริษัทเทคโนโลยีของโลกอย่าง Tesla, MicroStrategy และอื่นๆ ต่าง ก็ “เก็บ” Bitcoin จำนวนมหาศาลเป็นสินทรัพย์คงคลัง ยิ่งไปกว่านั้นระบบชำระเงินออนไลน์อย่าง PayPal บริการบัตรเครดิตอย่าง VISA และแบรนด์สินค้ายอดนิยม เช่น Namecheap, KFC Canada, Microsoft, Subway, Wikipedia, Zynga (เกมบนมือถือ), Bloomberg และ Shopify เริ่มยอมรับการชำระเงินด้วย Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ 

อย่างไรก็ตามการที่ Cryptocurrency จะเข้าสู่การยอมรับในวงกว้างจนเป็น Mass Adoption ได้นั้นจะต้องก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ โดยสรุปเป็น 3 ข้อหลักๆ ดังนี้


ความท้าทายของ Bitcoin และเงินคริปโตสู่การยอมรับ ในโลกการเงินยุคใหม่

1.กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ(Regulations) 

ในหลายๆ ประเทศยังไม่มีกฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อสกุลเงินดิจิทัล หรือ cryptocurrency อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงของรัฐบาล การติดตามความมั่งคั่ง การเก็บภาษี และการควบคุมอุปสงค์อุปทาน กฎระเบียบเก่าไม่ยืดหยุ่นพอที่จะเข้าใจสกุลเงินใหม่ ซึ่งหากมีกฎระเบียบที่เข้าใจธรรมชาติของ cryptocurrency ก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและเกิดประโยชน์อย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ เกิด Capital Inflow จากนักลงทุนทั่วโลก 

 

2.ความเข้าใจผิดเรื่องความเป็นส่วนตัว(Privacy)

ในอดีตเคยมีกรณีการใช้Cryptocurrency ในตลาดมืดเพื่อซื้อสินค้าผิดกฎหมาย เรียกค่าไถ่ หรือฟอกเงิน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้ใช้อาจได้รับการปกปิดตัวตน แต่คุณสมบัติสำคัญของ Blockchain คือ ‘ความโปร่งใส’ ธุรกรรมใดๆ ก็ตามที่ถูกกระทำผ่านบล็อกเชน ข้อมูลเหล่านั้น จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้มีการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องจากเครือข่ายได้ รวมทั้งเหรียญก็ยังมีบันทึกอีกว่า เหรียญนั้นเคยผ่านมือใครมาแล้วบ้าง การตรวจสอบธุรกรรม Cryptocurrency นั้น ไม่ต่างจากการตรวจสอบธุรกรรมการเงินทั่วไป ผู้ใช้จะต้องให้ข้อมูลส่วนตัวในขั้นตอน Anti-Money Laundering (AML) และ Know Your Customer (KYC) รวมถึงข้อมูลไอพีแอดเดรส (IP address) และพฤติกรรมการใช้จ่ายต่อแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งเพียงพอสำหรับการตรวจสอบ หากผู้ใช้มีพฤติกรรมต้องสงสัย

3.ความปลอดภัย (Security)

การขโมย Cryptocurrency การฉ้อโกงและการแฮ็กส่วนใหญ่มักจะถูกอ้างว่า เทคโนโลยีไม่ปลอดภัย แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่การแฮ็ก Blockchain ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีหลอกลวงและโจรกรรมเพื่อเข้าถึงคีย์ส่วนตัว (Private Key) หรือรหัสผ่านที่
ใช้ในการเข้าถึงกระเป๋าเงินและบัญชีบนBlockchain และเว็บเทรด (Exchange) โดย Blockchain นั้นถูกออกแบบให้แฮ็ก หรือเปลี่ยนแปลงธุรกรรมได้ยาก ซึ่งถ้าจะทำ ต้องอาศัยกำลังการประมวลผลที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของเครือข่ายทั้งหมด จึงจะสามารถแก้ไขข้อมูลได้ โดยการกระทำดังกล่าวมีโอกาสเกิดน้อยมาก

วันนี้ Cryptocurrency และ Blockchain ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการเงินและการลงทุน แต่ในระยะยาว Cryptocurrency และ เงิน Fiat จะทำงานร่วมกันเพื่อชดเชยจุดอ่อนของกันและกัน ซึ่งก็เหมือนกับอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เกือบทั้งหมด (IoT) และช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต 

Cryptocurrency จะถูกยอมรับในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในระบบชำระเงินออนไลน์เกือบทั้งหมดเพื่อชำระเงินและทำธุรกรรม รวมไปถึงการกำหนดสิทธิในการร่วมลงทุนในโปรเจ็กต์ การปล่อยเงินกู้ การชำระค่าสาธารณูปโภค ตลอดจนการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน 

 

คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์

โดย : ปรมินทร์ อินโสม 

ประธานกรรมการบริหารบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564