นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทว่าโดยรวมในระยะสั้น ภาวะที่เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าหรือทรงตัวในกรอบปัจจุบัน จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะทำให้โอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่องก็จะมีน้อย
นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนเมษายน เงินบาทก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง จากแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศในช่วงการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราคาดว่า ในบางสัปดาห์อาจมีโฟลว์จ่ายปันผลกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (โดยรวมตลอดช่วงเดือนเมษายน ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม อาจมียอดจ่ายปันผลกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเรามองว่า ในช่วงไตรมาส 2 ที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่ผู้นำเข้าที่ยังไม่มีภาระที่ชัดเจน อาจเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ การทำออพชั่น (Options) เพราะเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้
กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.20-31.30 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยความหวังว่าแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Investment Plan) มูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านดอลาาร์ จากประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะสามารถช่วยหนุนกาฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ในเดือนมีนาคมก็เพิ่มขึ้นกว่า 5.15 แสนราย ยิ่งที่ให้ตลาดเชื่อมั่นในแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell2000 ปิดบวก 1.1% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 0.4% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า 1.5% หลังตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ปิดลบเล็กน้อย 0.2% กดดันโดยแรงขายหุ้นในกลุ่มการเงินขนาดใหญ่ของยุโรปที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้การเพิ่มเงินประกัน (Margin Call) ของ Archegos Capital Management นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงขายทำกำไร หลังดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ปรับตัวสูงขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ หรือ ใกล้จุดสูงสุดในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19
ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นราว 4bps สู่ระดับ 1.74% ขณะเดียวกัน ตลาดก็ลดการถือครองเงินดอลลาร์ หลังจากที่ความปั่นป่วนในตลาดการเงินเริ่มลดลง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงแตะระดับ 93.2 จุด ส่งผลให้ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.378 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในขณะที่ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังคงอ่อนค่าลงสู่ระดับ 110.8 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ได้ช่วยให้ ราคาทองคำ รีบาวด์กลับขึ้นมา สู่ระดับ 1,708 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มดีขึ้น โดยในฝั่งญี่ปุ่น ผลสำรวจภาคธุรกิจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น จะชี้ว่า บริษัทใหญ่ในภาคการผลิตจะมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มธุรกิจที่ดีขึ้น โดยดัชนี Tankan บริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่จะปรับตัวขึ้น สู่ระดับ -1 จุด ในไตรมาสที่ 1 จาก -10 จุด จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่องและค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ภาพดังกล่าวจะสะท้อนในยอดการส่งออกของเกาหลีใต้ (Exports) ในเดือนมีนาคมที่จะขยายตัวถึง 16% เช่นกัน
นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามผลการประชุมกลุ่ม OPEC+ ที่คาดว่า จะยังคงส่งสัญญาณลดกำลังการผลิตในอัตราเดิมต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดน้ำมัน หลังจากที่ความต้องการน้ำมันในระยะสั้นอาจชะลอตัวลงจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในยุโรปและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวของ OPEC+ มีโอกาสช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น และเราคงมองว่า ราคาน้ำมันดิบยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (1 เม.ย.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงเช้าวันนี้ (หลังเมื่อวานนี้ ปรับตัวแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่งที่ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ) ขณะที่เงินดอลลลาร์ฯ มีแรงหนุนน้อยลง เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด โดยการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ เดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. ลดลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค. ของจีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ