thansettakij
โควิดรอบใหม่ เศรษฐกิจแค่แผ่วชั่วคราว

โควิดรอบใหม่ เศรษฐกิจแค่แผ่วชั่วคราว

08 เม.ย. 2564 | 11:10 น.

ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ จากผลกระทบโควิด -19 รอบใหม่ คาดเพียงแค่แผ่วชั่วคราวเหมือนช่วงธันวาคม หรือคริสต์มาสปีที่แล้ว และจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม เผยการบริโภคอาจชะลอแทบทุกหมวด ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำในปีนี้


ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีกระลอกในหลายคลัสเตอร์ ซึ่งกำลังมีความเป็นไปได้สูง ที่ทางภาครัฐจะประกาศการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนอีกครั้ง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3 

ภาพบรรยากาศทางเศรษฐกิจตอนช่วงก่อนสงกรานต์นี้ แตกต่างอย่างชัดเจนจากช่วงสัปดาห์ก่อน โดยช่วงปลายเดือนมีนาคม สังเกตเห็นกำลังซื้อในประเทศที่คึกคักขึ้น และโดยปกติในเทศกาลสงกรานต์ ร้านค้ามักจะตุนสต๊อกสินค้า ยอดขายกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ มักขยับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า กลุ่มโรงแรม ร้านอาหารจะได้อานิสงส์จากการเดินทางในประเทศ แม้ในอดีตกลุ่มโรงแรมจะมองเป็นช่วงโลว์ซีซัน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติมาน้อย แต่ก็พอประคองได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศ 

มาตอนนี้หลังจำนวนยอดผู้ติดเชื้อมีมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นึกถึงบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปีก่อนเทศกาลวันคริสต์มาส ที่คนเตรียมฉลองและท่องเที่ยว แต่สุดท้ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุด จากการพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจังหวัดสมุทรสาครและลามไปทั่ว จนรัฐมีมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ได้นำไปสู่ภาวะการชะลอทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจเมษายนนี้ จะคล้ายกันกับช่วงก่อนคริสต์มาส 

นอกจากนี้ หากเกิดการระบาดมากขึ้น รัฐจะเลือกใช้การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนคล้ายกับที่ใช้ในช่วงปลายปี เช่น ปรับเวลาการปิดร้านอาหารให้เร็วขึ้น ไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ปิดสถานที่บริการที่อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น ฟิตเนสและร้านนวด ซึ่งไม่ใช่มาตรการที่เข้มงวดมาก และไม่น่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจเทียบกับช่วงการระบาดในรอบแรก 

อย่างไรก็ดี ทางบริษัทและธุรกิจต่างๆ น่าจะเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่ทำงานที่บ้านมากขึ้น เพื่อลดความแออัดของพื้นที่ และโดยรวมอาจส่งผลต่อธุรกิจในกลุ่ม อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า การขนส่ง ขณะที่ธุรกิจโรงแรมที่กำลังรอต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงวันหยุดยาว ก็กำลังลุ้นว่าจะมีใครยกเลิกการจองห้องพักมากน้อยเพียงไร ช่วงก่อนสงกรานต์นี้หากยังไม่มีมาตรการใดออกมา อาจเห็นธุรกิจเร่งระบายสต๊อกสินค้าด้วยการลดราคาสินค้าและบริการ เพราะเกรงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยิ่งเพิ่มขึ้น หลังผู้คนกลับมาจากท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ 

ในช่วงความกังวลเหล่านี้ อยากให้กลับไปนึกภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนมกราคม ช่วงนั้นมีการระบาดต่อเนื่อง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันก็ปรับตัวลดลงในที่สุด มาตรการที่เข้มงวดในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก็ผ่อนคลายลง ดัชนีภาคการบริโภคก็หดตัวเทียบเดือนต่อเดือนในแทบทุกหมวดหมู่ในเดือนมกราคมก่อนฟื้นตัวบ้างในเดือนถัดมา ซึ่งน่าจะได้เห็นภาพที่คล้ายกัน หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน และอาจมีมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนจริง จนส่งผลให้การใช้จ่ายของคนไทยลดลงในเดือนนี้ แต่หากควบคุมได้ดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะกลับมาเปิดมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะดีขึ้นในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แสามารถประเมินต่อไปได้ว่า แม้จะสิ้นสุดรอบ 3 นี้ การบริโภคก็ยังเสี่ยงโตช้าด้วยปัจจัยอื่น 

แม้การบริโภคภาคเอกชนจะเริ่มฟื้นขึ้น แต่มองว่าการใช้จ่ายจะยังไม่เร่งแรง และอาจต้องระวังความเสี่ยงที่การบริโภคจะโตช้ากว่าที่เคยเห็นในช่วงก่อนโควิด แต่ถ้านึกกันดีๆ ช่วงก่อนโควิดในหลายปี การบริโภคภาคเอกชนก็โตต่ำกว่าการเติบโตของจีดีพี เรียกง่ายๆ ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตจากภายนอกมากกว่าภายใน ปีนี้ก็เช่นกัน หากดูการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละสำนัก ก็จะเห็นภาพคล้ายคลึงกัน นั่นคือการบริโภคเอกชนโตต่ำกว่า 3%  

ขณะที่เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนผ่านการส่งออกสินค้าที่มองว่าอาจโตได้มากกว่า 10% และยังไม่นับการกระจายตัวของเศรษฐกิจอีกที่ดีเพียงด้านกลาง-บน ซึ่งต่อให้ไม่มีรอบ 3 นี้ การบริโภคก็เสี่ยงโตช้าด้วย 4 ปัจจัยดังต่อไปนี้ 

1. ขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ  แน่นอนว่ากำลังซื้อปีนี้จะดีกว่าปีก่อน เพราะช่วงไตรมาสสองปีก่อนก็ล็อกดาวน์ และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปเฉียดศูนย์ แต่ที่เรากำลังคิดต่อคือจะให้กำลังซื้อกลับเป็นปกติก่อนวิกฤติโควิด ซึ่งหากขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมากเราก็ฟื้นได้ด้วยกำลังซื้อคนไทย ซึ่งยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง 

2. ขาดการลงทุน  โดยปกติแล้ว หากเอกชนขายสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะรอบนี้ที่การส่งออกเริ่มฟื้นตัว โรงงานต่างๆ ก็จะมีการผลิตที่มากขึ้น จะมีการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ให้พนักงานทำโอที คนงานได้เงินเพิ่มขึ้น มีกำลังซื้อไปจับจ่ายซื้อของได้มากขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จะคึกคักขึ้น แต่ผมกลับมองว่าเอกชนยังชะลอการลงทุน นั่นเพราะโรงงานต่างๆ อาจยังเลือกที่จะระบายสต๊อกสินค้าก่อนเร่งผลิตของ หรือแม้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ทำให้การลงทุนใหม่ๆ ยังเลื่อนออกไปได้ ซึ่งเราน่าจะเห็นในช่วงไตรมาสสามมากขึ้น 

3. ขาดความเชื่อมั่น  โดยปกติคนจะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเมื่อมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ กล้านำเงินออมออกมาใช้ แต่รอบนี้เรายังเห็นคนออมเงินกันค่อนข้างมาก ซึ่งแม้เป็นเรื่องดี แต่ก็สะท้อนภาพความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย เรื่องการออมที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ชัดเจนในกลุ่มคนรายได้น้อย เพราะโดยมากก็มักใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่แล้ว แต่ที่น่าจะชัดเจนน่าจะเป็นกลุ่มคนพอมีเงิน มีฐานะที่ดี กลุ่มนี้กลับลังเลที่จะใช้เงิน อาจห่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งความเชื่อมั่นจะมีผลต่อสินค้าคงทน มากกว่ากลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่เสื้อผ้าดังที่กล่าวไปข้างต้น กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ของตกแต่งบ้านอาจไม่ฟื้นเต็มที่ โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ มีผลต่อการใช้จ่ายในสินค้าเกี่ยวเนื่องนี้ คงหวังให้มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เช่นการเพิ่มการลดหย่อนภาษี หรือการลดภาษีรายได้ไปเลย  

4. ขาดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย  มาตรการรัฐในการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภคผ่านเงินโอนจากรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 31 พฤษภาคม และหากไม่มีการต่ออายุมาตรการเหล่านี้และให้เงินเพิ่มเติม ผมเกรงว่าคนจะไม่ใช้จ่ายมากเท่าที่เป็นอยู่ เรียกง่ายๆ ว่าภาพที่เห็นบางส่วนอาจเป็นภาพลวงตา กำลังซื้อของคนยังไม่ฟื้นเต็มที่ แต่มาจากรัฐช่วย หากรัฐถอนมาตรการเหล่านี้แล้ว แน่นอนว่าบางส่วนอาจไม่มีรายได้มากพอที่จะใช้จ่ายได้เท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เราอาจต้องรอดูว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ดีขึ้นจนคนกลุ่มอื่นๆ ใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสสอง และอาจพอชดเชยบางกลุ่มที่การใช้จ่ายอาจลดลงไปบ้าง แต่แน่นอนว่าการใช้จ่ายคงไม่ลดลงไปหมดแม้สิ้นสุดมาตรการเงินโอนจากรัฐตามเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นได้บ้าง 

การระบาดรอบนี้มีผลต่อการบริโภคที่อาจชะลอในเดือนเมษายนในแทบทุกหมวด โดยหมวดอาหาร เครื่องดื่มอาจไม่ลดลงแรงเท่ากลุ่มอื่น เพราะได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากรัฐบาล และเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยคือ การใช้จ่ายของคนไทยยังเติบโตช้าด้วยปัจจัยอื่นนอกจากโควิด ซึ่งน่าจะมีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำในปีนี้
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง