โควิดดันสำรองเพิ่ม ฉุดกำไรแบงก์

15 เม.ย. 2564 | 20:15 น.

โบรกคาด กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกปี 64 ดีกว่าไตรมาส 4 ปี 63 แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังตั้งสำรองลดลง ห่วงเอ็นพีแอลปีนี้พุ่ง คาดสิ้นปีแตะ 5% 

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ต่อจากนี้ จะเป็นช่วงของการรอติดตามผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไทย ในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งกลุ่มแรกที่จะประกาศก่อนคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่นอกจากนักลงทุนจะรอดูตัวเลขรายได้ กำไร หรือขาดทุนสุทธิแล้ว ยังต้องจดจ่อกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมถึงการตั้งสำรองว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนผันการจัดชั้นและการกันสำรอง ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย  แต่สถาบันการเงินยังสามารถบันทึกรายได้เงินต้นและดอกเบี้ยได้ไปจนถึงสิ้นปี 2564  รวมทั้งการรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที รวมทั้งการรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้เพื่อให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น 

ผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์

สำหรับตารางการรายงานผลประกอบการไตรามาส 1 ปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์เบื้องต้นคือ วันที่  19 เมษายนจะมี บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเวียลกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ TISCO  และบริษัท แอลเอช ไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ LHFG ส่วนวันที่ 20 เมษายน จะมีธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KBANK และธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) หรือ BAY และวันที่ 21 เมษายนจะเป็นธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ที่ยังไม่ชัดเจนคือ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KTB  อาจเป็น 20-21 เมษายน และธนาคาร เกียรตินาคินภัทร จำกัด(มหาชน) หรือ KKP  วันที่ 19-21 เมษายน 2564  

รายงานข่าวจากตลท. เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง คือ ธนาคาร กรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BBL, SCB,  KBANK), ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB, BAY, KKP, KTB, ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT, TISCO และ LHFG มีกำไรสุทธิปี 2563 รวมอยู่ที่ 138,298 ล้านบาท ลดลง 64,423 ล้านบาท จากปี 2562 มีกำไรสุทธิที่ 202,721 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 1 ปี 2563 กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 44,500 ล้านบาท ลดลง 9,548 ล้านบาท จากไตรมาส 1 ปี 2562 อยู่ที่ 54,048 ล้านบาท

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดการณ์กำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 แต่ยังลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 โดยในการปรับขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามาจากการตั้งสำรองที่ลดลงในหลายธนาคาร เนื่องจากได้ตั้งสำรองในระดับสูงแล้วในไตรมาส 4 เช่น SCB, TMB และ KKP ขณะที่เอ็นพีแอลในไตรมาสแรกปีนี้คาดจะทยอยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.23% จากเดิมอยู่ที่ 4% และปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5% จากปีก่อนอยู่ที่ 4%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ที่จะส่งผลต่อแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม ซึ่งถ้ายังควบคุมไม่ได้ และแผนต้องเลื่อนออกไปจะกระทบกับเศรษฐกิจ ทำให้ต้องปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ลง ส่งผลต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) จะใช้จีดีพีในการคำนวณเพื่อตั้งสำรองหนี้เสีย หากมีการปรับลดจีดีพีลง อาจจะทำให้ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นได้    

 

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ที่ปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูง ส่งผลต่อพอร์ตการลงทุนของธนาคารหลายแห่งที่ลงทุนในพันธบัตร และต้องคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยให้สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม (Mark to
Market) ของตนเอง ทำให้เกิดผลขาดทุน โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เช่น BBL และ KBANK ซึ่งคาดว่าจะขาดทุนเฉลี่ย 1,000 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้น ปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างแพง เนื่องจากราคาได้ตอบรับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งในระยะต่อไปมองว่าจะเป็นลบมากกว่า จากความเสี่ยงเอ็นพีแอล และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น ทั้งนี้ แนะนำหุ้นที่มีความเสี่ยงน้อย และดีที่สุดในกลุ่ม คือ BBL และ KKP

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 ลดลง -27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในปี 2564-2565 ที่ 6-10% เพราะแนวโน้มตั้งสำรองที่ลดลงจากการที่ตั้งสำรองเผื่อมามากแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกถึงเดือนมิถุนายน 2564 ขณะเดียวกัน เอ็นพีแอลจะทยอยเร่งตัวเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ โดยคาดว่าจะขึ้นไปอยู่ที่ 4.45% 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564