ธปท. จ่อไฟเขียว P2P รายแรกปีนี้

18 เม.ย. 2564 | 19:10 น.

ธปท.จ่ออนุมัติปล่อยกู้ระหว่างบุคคล “P2P” รายแรกภายในปีนี้  หลังโควิด-19 ระบาด ต้องปรับรูปแบบธุรกิจ เผยอยู่ระหว่างพูดคุยรายใหม่อีก 5 ราย  ด้านผู้ประกอบการพุ่งเป้าปล่อยกู้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เหตุเข้าถึงแหล่งเงินยาก

คืบหน้าการทดสอบระบบ Peer to Peer Lending Platform หรือการกู้ยืมระหว่างบุคคล กับบุคคลผ่านแพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตัวกลางสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงิน และผู้ที่ต้องการให้กู้ ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยปัจจุบันเปิดให้ผู้สนใจ 3 รายอยู่ระหว่างทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox คือ บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด บริษัท เนสติฟลายจำกัด และ บริษัทเพียร์พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จำกัด

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า ทั้ง 3 รายยังทดสอบ Sandbox ของธปท. โดยช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้ปรับรูปแบบ วิธีการ เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จึงต้องรอติดตามดูว่า หลังจากปรับรูปแบบธุรกิจแล้ว บริษัทจะสามารถดำเนินงานเป็นไปตามแผนหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีบางรายที่จะออกจาก Sandbox ได้ภายในปีนี้  และปัจจุบันก็อยู่ระหว่างพูดคุยกับรายใหม่อีก  4-5 ราย 

สำหรับการปรับรูปแบบธุรกิจนั้น จะมีทั้งการปล่อยสินเชื่อกับประชาชนรายเล็ก, พนักงานองค์กรหรือสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเป็นลักษณะการปล่อยกู้ที่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน (หุ้น) เพื่อนำเงินกู้ไปต่อยอดธุรกิจ โดยไม่ให้นำเงินกู้ไปใช้ในวัตถุประสงค์อย่างอื่น 

ธปท. จ่อไฟเขียว P2P รายแรกปีนี้

 

“P2P จะเป็นอีกตัวเลือกและช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะผู้ที่ต้องการสินเชื่อรายเล็กหรือไม่มีหลักประกัน จึงหาวิธีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน ขณะเดียวกันผู้ลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในระดับหนึ่งได้ ทำให้ทั้งผู้ให้กู้ยืมและผู้ต้องการเงินกู้สามารถได้เจอกัน”นางสาวสิริธิดากล่าว 

นายวรพล พรวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ) บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางบริการ P2P ภายใต้กำกับดูแลของธปท.นั้น บริษัทจะให้บริการลูกค้าบุคคลธรรมดา โดยมองถึงผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา เช่น เอสเอ็มอีที่ยังไม่จดทะเบียน  (พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์) ซึ่งมีธุรกรรมพอสมควร แต่ตอนนี้ยังติดประเด็นเชิงเทคนิค ซึ่งธปท.มีความเข้มงวด เพื่อให้ปิดความเสี่ยงและเมื่อคู่ค้าพร้อมบริษัทจึงจะเปิดดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจคราวด์ฟันดิ้ง (crowd funding ) หรือ การระดมทุนจากผู้ลงทุนหลายๆ คน เพื่อสนับสนุนโครงการ ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยช่วง 2 เดือนครึ่งปีนี้ ได้ออกระดมทุนแล้ว 63 ล้านบาท กระเตื้องขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดมทุนสำเร็จ 54 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลปลดล็อคประกอบกับนักลงทุนเริ่มต้องการลงทุนที่มีอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น อีกทั้งแหล่งเงินทุนเริ่มที่จะปล่อยเงินสู่ระบบหลังจากนักลงทุนถือเงินสดมาระยะหนึ่ง ซึ่งอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 11%ต่อปี

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังเป็นบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน จึงหันมาระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มนี้ โดยบริษัทออกหุ้นกู้ไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน ด้วยการประเมินศักยภาพลูกค้าจากงบการเงินกระแสเงินสดและการบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละราย Credit Scoring ในการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า  

อย่งไรก็ตาม ยอมรับว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังมีความเปราะบาง แต่มีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากยอด Reject Rate ปีก่อนอยู่ที่ประมาณ70-80% แต่ปีนี้ลดเหลือ 60% สะท้อนความเสี่ยงที่ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลปลดล็อคดาวน์ประเทศ ธุรกิจบางส่วนกลับมามีผลประกอบการและกระแสเงินสดที่ดีขึ้น หลังจากผู้ประกอบการประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบางส่วนต้องปิดกิจการหรือธุรกิจชะลอทำให้ยอดคงค้างของกลุ่มลูกค้าหันกลับมาระดมทุนเพิ่มขึ้น โดยปีนี้ ตั้งเป้าหมายการระดมทุนในรูปแบบ Crowd funding ประมาณ 500-700 ล้านบาท เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 7 ล้านบาท  

“ผู้ที่ต้องการระดมทุน 10-20 รายต่อปีแต่ต้องคัดออกด้วย ไม่ใช่ทุกรายจะสามารถระดมทุนได้ เพราะต้องพยายามควบคุมความเสี่ยง เพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ ทำให้ตอนนี้ไม่มีประเด็นเรื่องการผิดนัดชำระและเราคำนึงถึงนักลงทุนหรือผู้ลงทุนผ่านหุ้นกู้ เขาต้องการความมั่นใจเรื่องการชำระคืนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 11% ต่อปี” นายวรพลกล่าว 

ขณะที่ผู้ระดมทุน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของบริษัทปัจจุบันจะอยู่ในภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ เช่น E-commerce และบริษัทประเมินหลักทรัพย์ ซึ่งลูกค้าจะประกอบธุรกิจมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี เพราะต้องมีงบการเงินสอบทานเป็นระยะเวลา 1 ปีดูยังไม่เคยขายหุ้นหรือระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนผู้ซื้อหรือลงทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงจะมีทั้งรายใหญ่และรายย่อย 

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564