นายอาคมเติม พิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 78.9% ของจีดีพี และเมื่อได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของสถานทางการเงินของคนไทยเมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติ
ขณะเดียวกัน จากสถิติ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 พบว่า ไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไปรวม 11.6 ล้านคน หรือ 17.6% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ในปี 2566 โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ทั้งนี้จากข้อมูลในปี 2560 พบว่า หลังเกษียณ มีผู้สูงอายุประมาณ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้จากบุตรหลาน ขณะที่อีก 31% ยังต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง โดยมีเพียง 2.3% เท่านั้น ที่สามารถพึ่งตนเองได้โดยใช้เงินออม สะท้อนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะทุกข์หลังเกษียณ
ขณะที่ผลการสำรวจการออมของคนไทยในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือน หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม โดยมีเพียง 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% ครัวเรือนที่มีเงินออม และยังพบว่าคนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม 38.5% มีพฤติกรรมการออมที่ไม่แน่นอน ที่เหลือ 22.6% มีพฤติกรรมการออมก่อนใช้ ทั้งนี้เมื่อนำข้อมูลมาประกอบกับการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคะแนนด้านความรู้ทางการเงินของคนไทยต่ำมาก และยังต่ำกว่ากลุ่มประเทศอื่นที่ทำการสำรวจ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจและสังคมทั้งเชิงโครงสร้างและปัจเจกบุคคล
โดยนายอาคม ได้ฝากถึงแนวทางการพัฒนาตลาดทุน ตลาดเงินต่อจากนี้ ใน 5 เรื่อง คือ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินฟินเทค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัย และการกำกับดูแลให้ระบบการเงินมีความมั่นคงและเสถียรภาพ 2. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะที่จะต่อยอดสิ่งต่างๆ เพื่อให้สามารถรับผิดชอบตนเองได้ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความรู้ด้านการเงินและการออมเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลได้
3. การเผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัวทุกด้านและตระหนักรู้ถึงการเตรียมพร้อมและการบริหารจัดการความเสี่ยงในชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด โดยพื้นฐานคือการวางแผนที่ดี และข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ โดยต้องเรียนรู้และฝึกฝนการบริหารทางการเงินให้มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ 4. การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต้องเร่งให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมการเงินและการออม และ 5.ต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน