กำไรแบงก์ โต 47.85%

25 เม.ย. 2564 | 20:15 น.

กำไรแบงก์ ไตรมาสแรกปี64 พุ่ง 4.66 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 47.85% จากไตรมาสก่อน เหตุคุมค่าใช้จ่ายและตั้งสำรองลดลง แต่อีก 3 ไตรมาสยังมีความกดดันจากมาตรการช่วยเหลือรัฐ ที่จะหมดอายุมิ.ย. ขณะที่เอ็นพีแอลเริ่มขยับแล้ว โดยเฉพาะหนี้ stage2 หลายธนาคารจ่อปะทุ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกไทย ที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญอย่างจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงมาตรการรัฐที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ แต่การกลับมาระบาดรอบ3 ของโควิด-19 ในช่วงต้นเดือนเมษายน ทำให้การฟื้นตัวของอุตสาห กรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งน่าจะใช้เวลายาวขึ้นอีกระยะหนึ่งและยังทำให้การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์่ไทย 10 ไทยที่ประกาศออกมาพบว่า มีกำไรสุทธิรวม 46,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,091 ล้านบาทหรือ 47.85% จากไตรมาส 4 ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดโควิดระลอกใหม่ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ลดลง 175 ล้านบาทหรือ ลดลง 0.37%

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้เปิดเผยว่า กำไรสุทธิไตรมาสแรกปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาดีกว่าคาดมาก และสะท้อนพื้นฐานของธนาคารมากขึ้น ผลจากความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่าย ประกอบกับปีที่แล้วธนาคารพาณิชย์ได้ตั้งสำรองไปค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรฐานบัญชีใหม่(TFRS9) และความระมัดระวังคุณภาพหนี้ที่จะเสื่อมค่าลงด้วย แต่หากดูไส้ใน กำไรของบางธนาคารที่ออกมาดีเกิดจากการใช้เครื่องมือทางการเงินที่กำหนดให้วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรม(Mark to market)จากการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้เป็นกำไรสุทธิที่เกิดจากธุรกิจหลักที่จะมีความต่อเนื่อง แต่เป็นการวัดมูลค่ายุติธรรม( FVTPL) ดังนั้นจึงไม่ใช่กำไรที่แท้จริง เพราะอนาคตขึ้นอยู่กับราคาพันธบัตรหรือตราสารที่ที่ไปลงทุนจะปรับลดลงด้วย

“มองไปข้างหน้า แนวโน้มโอกาสการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ในอีก 3ไตรมาสยังฟื้นตัวได้เพียงอ่อนๆ เท่านั้น เพราะยังมีความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งขึ้นกับมาตรการรช่วยเหลือจากภาครัฐ ผลของการกระจายวัคซีน และการเปิดประเทศ เพราะกำไรที่ดีขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่กันสำรองลดลง ซึ่่งยังมีความไม่แน่นอนในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวเมื่อไร”

กำไรแบงก์ โต 47.85%

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น่าจะกลับมาดำเนินธุรกิจปกติต่อได้ แต่รายที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หากการกระจายวัคซีนล่าช้า จะยังไม่กลับมาฟื้นตัวในปีนี้แน่ เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับเข้ามา หรือถ้าจะให้กำไรของธนาคารฟื้นตัวดีกว่านี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจจะต้องฟื้นตัวแรงกว่านี้ด้วย แต่น่าจะเห็นเศรษฐกิจเริ่มฟื้นในปีหน้ามากกว่า 

“เชื่อว่าแนวโน้มกำไรของธนาคาร ยังมีความกดดันจากมาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่จะเริ่มหมดลง ปีนี้แบงก์จะยังเน้นดูลูกค้า เพื่อให้กำไรออกมาดูดี  และส่วนใหญ่ยังรอดูว่า ทางการจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อดูว่าจะกระทบแบงก์อย่างไร หรือแบงก์จะต้องตั้งสำรองมากน้อยแต่ไหน เพราะไตรมาสแรกปีนี้ ก็เริ่มเห็นหนี้ด้อยคุณภาพขยับขึ้นแล้ว” นายธนวัฒน์กล่าว

ประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงที่เหลือคือ ระยะสั้น ธปท.จะต่อมาตรการช่วยเหลือรอบสองที่กำลังจะหมดในเดือนมิถุนายนนี้หรือไม่ เพราะเดิมคาดว่า จะกลับมาเปิดประเทศในไตรมาส3 ปีนี้ แต่ถ้ายังไม่เปิดประเทศจะเป็นความท้าทายระยะสั้นของทั้งธปท.และสถาบันการเงิน ส่วนพรระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฟื้นฟูและโครงการ พักทรัพย์ พักหนี้ ก็เป็นความท้าทายธนาคารว่า จะประสบความสำเร็จในการช่วยธุรกิจท่องเที่ยวได้มากน้อยเพียงไร

“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่รายงานผลดำเนินงานไตรมาสแรกปี 2564 ต่อตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ยกเว้นธนาคาร กสิกรไทยและ ซีไอเอ็มบีไทย แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า มีเพียง 3 ธนาคารที่ยังทำกำไรสุทธิเป็นบวกคือ กสิกรไทย 44.1%, ทิสโก้ 18.64% และไทยพาณิชย์ 9.05%

ทั้งนี้ กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นหรือปรับลดลงเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การขยายฐานรายได้ ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เช่น ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันหรือรับจัดการกองทุน และดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงการรับรู้กำไรตามราคาตลาดในปัจจุบันของพอร์ตลงทุน ซึ่งสะท้อนผ่านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) นำโดยเกียรตินาคินภัทรอยู่ที่ 5.5% ทิสโก้ 4.62% กสิกรไทย 3.16%ไทยพาณิชย์ ทีเอ็มบีและกรุงศรี ใกล้เคียงกันที่ระดับ 3.0% กรุงไทย 2.5% กรุงเทพ 2.17% 

เมื่อพิจารณาการจัดชั้นของสินเชื่อและค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9(TFRS9) ซึ่งแบ่งสินเชื่อจัดเป็น 3 ชั้นประกอบด้วย จัดชั้นที่ไม่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Stage1) ,จัดชั้นที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อการด้อยค่าด้านเครดิต (Stage2) และจัดชั้นที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Stage3) หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ส่วนใหญ่ธนาคารมีหนี้จัดชั้น Stage2 เพิ่มขึ้น 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564