ถือเป็นการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ หลังจากที่เปิดจองซื้อไปเมื่อวันที่ 22 – 26 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สำหรับ “บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR)” ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม ทำให้ต้องจัดสรรหุ้นเพิ่มเติมให้แก่ผู้จองซื้อรายย่อยเพิ่มเติม จากเดิมจำนวน 46,500,000 หุ้น เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 75,000,000 หุ้น รวมถึงได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่หุ้นละ 36.50 บาท และจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564
สำหรับการเสนอขายหุ้นไอพีโอของ TIDLOR ในครั้งนี้ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,043,542,800 หุ้น (รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) โดยมีมูลค่าเสนอขายรวมประมาณ 38,089 ล้านบาท นับว่าเป็นหุ้นไอพีโอในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด และมีมูลค่าการเสนอขายสูงสุด 5 ลำดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย
หากย้อนไปเมื่อช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนจะคุ้นกับชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ จนเรียกติดปาก แต่ความจริงแล้ว มีการฟ้องร้องให้เปลี่ยนชื่อกันใน 2 บริษัท เพราะทำให้เกิดความสับสน จำผิด จำถูกของลูกค้า ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปย้อนถึงความเป็นมาของทั้งสองบริษัท จนถึงการเปลี่ยนแปลงชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน คือ “บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD)” และ “บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR)”
เริ่มจากธุรกิจของบริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 โดยครอบครัว “แก้วบุตตา” เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อ ในรูปแบบสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แก่ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นได้ขยายธุรกิจเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่ยังมีความต้องการบริการทางการเงินอีกมาก แต่ไม่มีโอกาสรับบริการจากธนาคารและสถาบันการเงินโดยการเปิดสาขาเพิ่มเติม ในจังหวัดต่างๆ จนในปี 2534 มีสาขากว่า 130 สาขา จากนั้นได้ขายบริษัทรวมถึงเครื่องหมายการค้าให้กับบริษัท AIG ในปี 2550 เปลี่ยนชื่อจากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด เป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด
ขณะเดียวกัน ในปี 2552 บริษัท AIG ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงขายกิจการให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ที่เข้าซื้อกิจการ 100% พร้อมกับเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถครบวงจร สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และเป็นนายหน้าประกันภัย
แต่หลังจากนั้น ตระกูล “แก้วบุตตา” กลับมาทำธุรกิจเดิม โดยก่อตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” ในปี 2551 และมีสโลแกน “ศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ” รวมถึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2557 ใช้ชื่อ “บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAWAD)
ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนระหว่าง “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ของธนาคารกรุงศรี และ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” ของตระกูลแก้วบุตตา ซึ่งคิดว่าเป็นบริษัทเดียวกัน หรือมีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” จึงได้ฟ้องต่อศาลให้ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” ถอดคำว่า “ศรีสวัสดิ์” ออกจากแบรนด์ในการทำธุรกิจ แต่ปรากฏว่า “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” เป็นผู้ชนะ
ขณะที่ ในปี 2561 ธนาคารกรุงศรีตัดสินใจรีแบรนด์ครั้งใหญ่ โดยตัดคำว่า ‘ศรีสวัสดิ์’ ทิ้ง เหลือเพียง “เงินติดล้อ” ที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 10 พฤษภาคมนี้