การเร่งฉีดวัคซีน ของประเทศต่างๆทั่วโลก เป็นแรงสนับสนุนต่อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นจาก เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกที่ฟื้นตัวขึ้นถึง 18.3% และสหรัฐขยายตัว 6.4% ทำให้ ทิศทางการลงทุน ในสินทรัพย์ต่างๆ จะอิงไปกับกิจการที่ผลประกอบการขึ้นกับลักษณะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก พึ่งพิงสภาพเศรษฐกิจในประเทศน้อย เพราะต้นตอของวิกฤติรอบนี้มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด ความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของนโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มการลงทุน ในช่วงที่เหลือของปีจะมีการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน หรือ Rotation เกิดขึ้นอีก โดยต้องจับตามุมมองของตลาดต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ ถ้าทำได้ดีประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM)และเอเชียที่ถูกกดดันหนักในรอบล่าสุดนี้ จะมีโอกาสฟื้นตัวแรง แต่ถ้าคุมได้ช้า จะเห็นเงินทุนหมุนเวียนไปที่ ยุโรป ญี่ปุ่นและหุ้นขนาดเล็กในสหรัฐแทนที่
ฝั่งสินทรัพย์ทางเลือก เริ่มมีมุมมองที่ดีขึ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพื้นฐานอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ช่วงการลงทุนโครงสร้างฟื้นฐานครั้งใหม่ในอเมริกาและยุโรป ส่วนทองคำคาดว่า จะฟื้นตัวตามได้บ้าง แต่อาจไม่ได้โดดเด่นเหมือนเมื่อก่อน เมื่อนักลงทุนบางส่วนย้ายไปถือบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ทางเลือกแทนที่
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวว่า สินทรัพย์ที่มีแนวโน้มโดดเด่นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากหุ้นยุโรปแล้ว หุ้นในตลาดเกิดใหม่เชื่อว่า หลังจากกระจายวัคซีนได้มากขึ้นเร็วขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศจะดีขึ้น คาดว่ากลุ่มนี้ น่าจะสร้างผลตอบแทนประมาณ 5-8% เทียบเท่ากับหุ้นยุโรป, รองลงมาเป็นจุดที่น่าสนใจคือ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่จะให้ผลตอบแทน 3-5% ถัดลงมาเป็นหุ้นสหรัฐ แม้ราคาจะแพง แต่ยังมีอัพไซด์บางๆ ได้ 0-0.25%
สำหรับกลุ่มที่น่าหลีกเลี่ยงจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลของยุโรปและสหรัฐ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) ปรับสูงขึ้น โดยลอมบาร์ด โอเดียร์คาดว่า ปลายปีบอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐอาจจะปรับเพิ่มถึง 2% ซึ่งราคาพันธบัตรจะปรับลดลง เพราะฉะนั้นผลตอบแทนติดลบ 2.5-4% และทองคำ ซึ่งปีที่แล้วราคาปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยจะลดลง โดยคาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจจะปรับลดตํ่าลงได้ 7.5-10%
ส่วนพอร์ตลงทุนของเคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้งประกอบด้วย 5ธีม ซึ่งยังใช้กับลูกค้าโดยเฉลี่ยของบริษัท ได้แก่
1. กลุ่มผู้ชนะของเศรษฐกิจใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของบริษัทเทคโนโลยีเป็นหลัก จะอยู่ในสหรัฐ ยุโรป โดยบริษัทยังคงลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ต้องยอมรับกลุ่มเทคโนโลยีแผ่วไปบ้างในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนที่ผ่านมา เพราะราคาเติบโตไปค่อนข้างมากในปีก่อน จึงอยู่ในระดับค่อนข้างแพง แม้ช่วงหลังผลประกอบการของบริษัทกลุ่มนี้จะออกมาดีเกินคาด เห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่เช่น T-FAANG ซึ่งประกอบด้วย Tesla, Facebook, Amazon, Alphabet, Netflix และ Google ดังนั้นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นักลงทุนจึงเทขายทำกำไร ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวลงบ้าง แต่ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี อยู่ในระดับสูง 3-7.5%
2.กลุ่มสุขภาพหรือ เฮลธ์แคร์ ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง ผลตอบแทนหุ้นสุขภาพอยู่ที่ 3% ยกเว้นหุ้นบางกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสูงมากปีที่แล้ว และนักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนเมื่อต้นปี เช่น กลุ่มที่เน้นพันธุกรรม
3.กลุ่มรักษ์โลก เป็นกลุ่มดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม กองทุนต่างๆ ที่เน้นเรื่อง ESG ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีประมาณ 8%
4.กลุ่มภูมิภาคเอเชียและจีน(สินทรัพย์) กลุ่มนี้อาจยังไม่หรูนัก ผลตอบแทนเติบโต 0-4% แต่เป็นธีมน่าสนใจ และ
5.กลุ่มที่ได้รับผลบวกจากวัฎจักรของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นธีมใหม่ที่ลูกค้าเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ให้ผลตอบแทน 10-16%
“หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปีที่แล้วปรับตัวสูงมาก แต่ปีนี้แผ่วลงไปจากการขายทำกำไร เพราะตื่นกลัวเรื่องเงินเฟ้อ ในเวลาเดียวกันก็เป็นการเปลี่ยนหน้าเล่น เปลี่ยนกลุ่มเล่น โดยเปลี่ยนจากกลุ่มเทคโนโลยีมาเป็นกลุ่มบริษัทที่ฟื้นตัวตามวัฎจักรของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม วัสดุหรือวัตถุดิบ ธนาคาร พลังงาน ได้รับความสนใจมากขึ้นและช่วงที่ผ่านมาผลตอบ แทนค่อนข้างสูง”นายจิรวัฒน์กล่าว
สำหรับภาพรวมที่ผ่านมา (ณวันที่ 4 พ.ค. 2564) ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8.6% นำโดย หุ้นตลาดพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้น 11.4% ยุโรป 10.1% ส่วนตลาดหุ้นเอเชียเอเชียแปซิฟิกไม่รวมญี่ปุ่นปรับตัว 4.1% ญี่ปุ่น 5.7% และตลาดเกิดใหม่โดยรวมปรับตัวขึ้น 3.8% ซึ่งตลาดเกิดใหม่ยังปรับตัวได้ช้าในช่วง4เดือนแรก มาจากตลาดหุ้นจีน( GHI 300 ) ติดลบ -1.6% ดัชนีหุ้น HSCI ที่จดทะเบียนตลาดฮั่งเซง 0.5% ไทย 11.7% ซึ่งดูดีกว่าประเทศอื่น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง